กระเป๋านักเรียน-เป้สะพาย...อันตราย
โรงเรียนหลายๆ แห่งอนุญาตให้นักเรียนสะพายเป้ แทนกระเป๋านักเรียน คงคาดว่าจะช่วยให้เด็กๆ ไม่ต้องถือกระเป๋าที่ทั้งโตและหนัก ทุลักทุกเลหิ้วกระเป๋าขึ้นลงรถเมล์ แต่การสะพายเป้ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยขึ้น แม้เป้อาจดูไม่โตเท่ากระเป๋านักเรียน กลับพบว่าแต่ละใบล้วนหนักๆ ถ่วงหลัง-ถ่วงไหล่ทั้งนั้น ทำให้สงสัยว่าคุณครูส่วนมากคงมีนโยบายให้เด็กขนตำรามาเยอะๆ ตกเย็นก็ต้องขนกลับบ้านกันซะให้หมด
จากที่เคยเห็นเหล่านักเรียนเดินหิ้วกระเป๋าจนตัวเอียง จึงต้องมาพบนักเรียนเดินสะพายเป้จนไหล่เอียงอีกด้วย !
จากการขอยืมเป้และกระเป๋านักเรียนของลูกหลานมาลองชั่งดูแต่ละใบล้วนหนัก บางใบน้ำหนักเกินกว่า 5 กิโลกรัม เด็กแบกกระเป๋าหนักขนาดนี้มีแนวโน้มไหล่เอียง หลังทรุด และหมอนรองกระดูกทับเส้น ซึ่งความจริงแล้ว เด็กควรแบกเป้หนักไม่เกิน 15% ของน้ำหนักตัว เด็ก ป. 1 ป. 2 น้ำหนักเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 22-24 กก. แบกกระเป๋าได้สูงสุดไม่เกิน 4 กก.
เด็กๆ ที่ต้องแบกสัมภาระหนักๆ ทุกวัน เขาต้องอยู่ในสภาพกล้ามเนื้อหดเกร็งอยู่เป็นประจำ นานวันเข้าก็จะเกิดอาการปวดหลัง ปวดข้อและยังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกสันหลังเคล็ด-เคลื่อน หรือกระทั่งคดและโก่งงอได้ ซึ่งนอกจากจะเสียบุคลิกแล้ว ยังเสียสมดุลทางร่างกาย ทำให้มีอาการปวดหลังเรื้อรังได้
ใช้เป้นักเรียนอย่างไรให้ปลอดภัย ?
การจัดหนังสือใส่เป้นั้น ให้วางเล่มใหญ่และหนักที่สุดไว้ด้านล่าง ตามด้วยเล่มเล็กเรียงต่อกันมา โดยใส่แต่สิ่งของที่จำเป็นเท่านั้น ควรเลือกเป้ที่มีคุณภาพและพิจารณาตรงที่สายรัดเอว-สายรัดไหล่ ด้วยว่าทำด้วยวัสดุหน้านิ่มใส่สบาย มีขนาดกว้างของสายรัดที่พอดี เส้นไม่เล็กนัก และอย่าลืมบอกเด็กๆ ให้ใช้สายรัดเอวด้วยทุกครั้ง เพราะจะช่วยให้เป้แนบกับตัวมากขึ้น ช่วยให้เกิดการกระจายน้ำหนักของเป้ ทำให้แบกเป้ได้กระชับและเบาลงอีกด้วย แล้วน้ำหนักก็ไม่ไปกดสะโพกและกระดูกเชิงกราน
ปากกา ดินสอ วงเวียน...บาด ตัด แทงทะลุ
อุปกรณ์การเรียนหลายชิ้นมีคม ไม่ว่าจะเป็นปากกา ดินสอที่เหลาแหลม มีดคัตเตอร์ ปลายวงเวียน หรือกรรไกร พ่อแม่จึงต้องสอนให้เด็กรู้ถึงอันตรายของการใช้วัตถุมีคม
สอนให้เก็บของแหลมและมีคมให้มิดชิด เมื่อจะใช้งานค่อยเอาออกมา เพราะหากเด็กนำมาเล่นอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ ถ้าทิ่มแทงหรือบาดผิวหนังก็ต้องล้างเอาสิ่งสกปรกออกให้มากๆ โดยเปิดน้ำก๊อกชะล้างแผล เสร็จแล้วห้ามเลือดโดยกดบริเวณแผลไว้ เมื่อเลือดหยุดเช็ดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์สำหรับทำแผลอีกที
สีเทียน
เด็กๆ กับสีเป็นของคู่กัน การระบายสีเป็นกิจกรรมสร้างสมาธิที่ดี ช่วยให้มีความสงบ ได้ระบายความคิด ความรู้สึกผ่านรูปภาพต่างๆ ลดความซึมเศร้าและพฤติกรรมรุนแรง แต่สีที่นำมาใช้ต้องระวังพิษจากสารโลหะหนักครับ
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ควบคุมให้มีสารโลหะหนักไม่ให้เกินกว่ามาตรฐานดังนี้ พลวง 60 มก. : กก. สารหนู 25 มก. : กก. โครเมียม 60 มก. : กก. ตะกั่ว 90 มก. : กก. แบเรียม 1,000 มก. : กก. แคดเมียม 75 มก. : กก.
การซื้อสีเทียน ต้องเลือกดูสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ถูกต้องนะครับ อย่าประหยัดจนเกินเหตุไปซื้อแบบยกโหลถูกๆ ที่นำเข้าตามขอบชายแดน ไม่คุ้มครับ ลูกเรายิ่งใช้ยิ่งโง่ลง แย่เลยครับ
กาวตราช้าง
ด้วยคุณสมบัติติดทน-ติดนาน จึงเป็นที่นิยมของทั้งคุณครูและนักเรียน ที่มักนำมาใช้กับงานสารพัด ทั้งประดิดประดอย ปะติดปะต่อ หรืองานซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความประมาทของผู้ใหญ่ ที่คงลืมไปว่า นี่ไม่เหมือนกาวน้ำทั่วๆ ไป ที่มักจะบีบใช้กันอย่างไม่บันยะบันยัง หรือจะเลอะนิ้วก็ไม่เป็นไร แต่...นี่คือกาวพิเศษที่เรียกกันว่า กาวพลช้าง อันตรายที่พบอยู่เสมอคือ...
1. นิ้วติดกัน-แกะไม่ออก ห้ามดึงให้แยกจากกันอย่างแรง เพราะจะทำให้เนื้อฉีก
แก้ไขโดย เช็ดด้วยน้ำอุ่นๆ หรือจุ่มมือลงในน้ำสบู่อ่อนๆ แล้วถูเบาๆ ให้กาวค่อยๆ ลอกออกไป หากนิ้วแยกกันแล้ว แต่ยังติดสะเก็ดกาวที่ยังเช็ดออกไม่หมดก็ไม่เป็นไรครับ เพราะราวสองวันมันก็จะลอก แล้วหลุดไปเอง
2. ริมฝีปากติดกัน อย่าดึงหรือจับแยกให้หลุดจากกันโดยแรง เพราะปากจะฉีกเป็นแผล
แก้ไขโดย ทำปากให้เปียกๆ เข้าไว้ ทั้งใช้ลิ้นเลียภายในปาก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดริมฝีปาก ในขณะที่ใช้นิ้วถูเบาๆ ให้กาวค่อยๆ ลอกออกไป
3. กาวเข้าตา แค่คิดก็สยอง ยิ่งกาวกระเซ็นเข้าใส่กระจกตา หรือเยื่อบุตาขาว อาการปวดแสบปวดร้อนก็จะบังเกิดขึ้น
แก้ไขโดย ให้รีบล้างตากับน้ำก๊อก ล้างน้ำมากๆ และล้างไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ตรงไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
4. หนังตาหรือขนตาติดจนลืมตาไม่ได้ พบได้บ่อย ซึ่งอาจเพราะการกระพริบตาทันทีที่กาวกระเซ็นใส่ อย่าออกแรงดึงหนังตาพรวดเลย เพราะจะทั้งเจ็บและเกิดเป็นแผลฉีกขาดทันที
แก้ไขโดย ใช้น้ำอุ่นล้างบริเวณขนตา เปลือกตา แต่ต้องล้างแบบต่อเนื่อง งานนี้ต้องใช้เวลาหน่อย หรืออาจทดลองตัดขนตาก่อนครับ เพราะหลายรายติดที่ขนตา ตัดออกปุ๊บ เปิดตาได้ปั๊บ
ต้องสอนเด็กให้ใช้อย่างปลอดภัย คือบีบเบาๆ ตรงจุดที่ต้องการ หรือใช้วัสดุ เช่นไม้เล็กๆ ป้าย ข้อห้ามคืออย่าให้ผิวหนังไปสัมผัสโดน แต่หากโดนนิ้ว ให้รีบกางนิ้วทันที จะได้ไม่ไปติดกับนิ้วอื่นๆ แล้วเอานิ้วจุ่มน้ำแช่ไว้ กาวจะแข็งตัวและแห้ง
ทุกครั้งที่ใช้จึงควรระมัดระวังให้มาก จริงๆ แล้วไม่ควรให้เด็กใช้เลยน่าจะดีกว่า
อุปกรณ์การเรียนอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็น...ยางลบ กบเหลาดินสอ ดินสอแท่งเล็กๆ ลูกปัด กระดุม เหรียญ และที่น่ากลัวไม่น้อยก็คือวงเวียนเหล็ก กรรไกรเหล็กอันเล็กๆ แหลมๆ ฯลฯ ยังมีอุปกรณ์การเรียนชิ้นเล็กชิ้นน้อยทั้งหลาย หากไม่ระมัดระวังกันให้ดีก็อาจกลายเป็นภัยได้เช่นกัน ยิ่งถ้ามีเจ้าตัวเล็ก (ไม่เกิน 6 ขวบ) เป็นสมาชิกในบ้าน เพราะยังเป็นวัยจอมซน-ช่างค้นหาและชอบคว้าของเล็กๆ เข้าปาก หลายๆ ครั้งต้องเกิดโศกนาฏกรรมโดยไม่คาดคิด เพราะวัสดุเล็กๆ ที่เด็กคว้าหมับใส่ปาก ไปติดหลอดลมทำให้เด็กสำลักขาดอากาศหายใจ หากช่วยผิดวิธีหรือช่วยไม่ทัน เด็กมักจะเสียชีวิตภายในไม่เกิน 4 นาที
ดังนั้น อุปกรณ์การเรียนทั้งหลายจึงจะต้องวางให้พ้นสายตาและมือของเจ้าตัวเล็กหรือแม้แต่เด็กวัยเรียนก็ไม่ควรเอาเข้าปากอย่างเด็ดขาด
คิดๆ ดูแล้วก็น่าเหนื่อยใจไม่น้อยเลยนะครับ ปิดเทอมก็ต้องพะวงกับเรื่องลูกหาย ลูกติดเกม พอเปิดเทอมก็ต้องระวังการเดินทางไป-กลับโรงเรียน กระทั่งเรื่องของอุปกรณ์การเรียนที่อาจเป็นอันตรายกับลูกอีก
ขอให้กำลังใจ และขอชื่นชมคุณพ่อคุณแม่ทุกๆ ท่าน ในความน่ารัก รอบคอบ และมีความรับผิดชอบที่ดีเยี่ยม นี่แหละคือแบบอย่างที่ลูกๆ และเยาวชนของชาติจะสืบสวนความดีงามนี้ตลอดไป
ความคิดเห็น