sagime
ดู Blog ทั้งหมด

เมื่อโทรศัพท์ฉลาดกว่าผู้ใช้ ภัยจากสมาร์ทโฟนที่เราป้องกันได้

เขียนโดย sagime


"สมาร์ทเฟส" โรคใหม่สมัยนิยมที่เกิดจากการตั้งหน้าตั้งตาจิ้ม โพส อัพโหลด บนสมาร์ทโฟนมากเกินไปทำให้ใบหน้าหย่อนคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก นี้เป็นอีกอาการที่ยืนยันว่าเราใช้โทรศัพท์ในชีวิตประจำวันกันเยอะขึ้น มีผลการสำรวจจากต่างประเทศว่าประชากรโลกประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้งานมือถือและ 1 ใน 5 เป็นสมาร์ทโฟน 

 

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าสมาร์ทโฟนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากเราจะใช้สมาร์ทโฟนค้นหาข้อมูลหรือ อัพสเตตัส แชร์รูปภาพ หลายคนยังใช้ทำงานไม่ว่าจะส่งเมล์ หรือทำธุรกรรมผ่านอินเตอร์เน็ตต่างๆ ทั้งการจ่ายผ่านบัตรเครดิต ไอแบงก์กิ้ง และนี้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตได้

 

ในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของบูลการ์ด ซิเคียวริตี้ เซาท์อีสท์เอเชีย ได้จัดสัมนาหัวข้ออาชญากรรมและการป้องกันภัยจากสมาร์ทโฟน โดย อาจารย์ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย จากรายการแบไต๋ไฮเทคให้ความรู้ว่า กิจกรรมที่ทำมากที่สุดบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟนคือการส่งข้อความคิดเป็น 92 เปอร์เซ็นต์ เข้าเว็บไซต์ต่างๆคิดเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ และเช็คอีเมล์คิดเป็น 76 เปอร์เซ็นต์

 

และการใช้อีเมลล์เป็นส่วนสำคัญมากเพราะอีเมล์จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราใช้ยืนยันตัวตนในอินเตอร์เน็ตไม่ว่าเราจะทำอะไร เมื่อต้องกรอกข้อมูลแล้วอีเมล์จะอยู่ในข้อมูลนั้นเสมอ หากมีผู้เข้าถึงอีเมล์ของเราได้ก็จะกลายเป็นสะพานที่ทำให้เข้าถึงข้อมูลอื่นๆที่สำคัญกว่า และโดยมากคนจะใช้พาสเวิร์ดซ้ำกับบัญชีข้อมูลอื่นๆอีกด้วย หรือปลอมตัวเป็นเราโดยใช้ข้อมูลที่ขโมยมาได้  หากคิดว่าไม่น่าจะกระทบมากมายอะไรลองคิดถึงการส่งพาสเวิร์ดแบบใช้ครั้งเดียวของธนาคารที่จะส่งเข้าอีเมล์ อันที่จริงการส่งพาสเวิร์คแบบใช้ครั้งเดียวจะช่วยรักษาความปลอดภัยได้ดี  แต่หากมีผู้อื่นเข้าถึงอีเมล์เรา ความปลอดภัยนี้ก็ใช้ไม่ได้เสียแล้ว

 

และเมื่อพูดถึงวิธีการขโมยข้อมูลของเรา ก็อาจมาจากตัวเราเองที่ติดตั้งมัลแวร์ลงไปในสมาร์ทโฟน มัลแวร์เหล่านี้จะมาพร้อมกับคำว่าฟรีต่างๆที่เรามักหลงใหลกับของฟรี หรือมาในรูปแบบแจกของรางวัลที่ทำให้หน้ามืดหลงกลสมัครสมาชิกและให้พาสเวิร์ดอีเมล์ไป มัลแวร์เหล่านี้อาจไม่ได้โจมตีเราโดยตรง จึงทำให้เราไม่รู้ตัวถึงภัยที่ย่างกลายเข้ามา มันจะดึงข้อมูลหรือบังคับสั่งงานเครื่องเราให้ทำตามเป้าหมาย

 

ฉะนั้นการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เราควรตรวจสอบเสียก่อน วิธีขั้นต้นที่ "อาจารย์ศุภเดช สุทธิพงศ์คณาสัย" ได้แนะนำคือการนำชื่อผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นมาค้นหาในกูเกิ้ล ผลการค้นหา 1-5 ผลการค้นหาแรกจะเป็นวีรกรรมที่ผู้ผลิตเคยทำ

 

นอกจากนี้การอ่านคอมเม้นท์ก่อนโหลดจะทำให้เรารู้ว่าแอพพิเคชั่นมีประสิทธิภาพแค่ไหน เป็นแอพพลิเคชั่นอำพรางหรือเปล่า การติดตั้งแอพพลิเคชั่นเป็นอีกหนทางจารกรรมข้อมูลของเราอีกทางหนึ่งที่ต้องระวัง และส่วนมากก็มักเกิดกับระบบแอนดรอยด์มากกว่าระบบอื่น เนื่องจากเป็นระบบที่มีผู้ใช้มากที่สุด ทั้งยังเป็นระบบเปิดที่ให้ผู้พัฒนาหรือผูู้ที่สนใจนำไปใช้สามารถเข้าไปดูโค้ดได้ ทำให้คนเหล่านี้รู้ถึงช่องโหว่ของระบบและอาศัยช่องโหว่ในการกระทำผิด

 

แม้แต่การล็อคหน้าจอก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยรักษาข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นได้หลายต่อหลายคนมองข้ามสิ่งนี้ไป เพราะต้องการความสะดวกสบายมากกว่า และอาจต้องเสียใจเมื่อโทรศัพท์หาย เพราะแทนจะเสียเพียงแค่โทรศัพท์อย่างเดียว เราก็ต้องสูญเสียข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลลับต่างๆไปด้วย  ซึ่งอาจประเมินผลค่าความเสียหายไม่ได้


เช่นนี้แล้วเราไม่ควรละเลยกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆอย่าง การล็อคหน้าจอ การให้ข้อมูลพาสเวิร์ดอีเมล์ ไปกับของฟรี ที่มาจากความโลภของเรา ที่อาจทำให้เราต้องจ่ายด้วยความรู้สึก เวลา และเงินจำนวนมากกว่าที่เรานึกถึง

ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1345628558&grpid=09&catid=04&subcatid=0401
 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น