aspros
ดู Blog ทั้งหมด

หลักการเขียนเรื่องสั้นให้น่าอ่าน

เขียนโดย aspros

มีสารพันความรู้เกี่ยวกับเรื่องสั้นจากปราชญ์ภาษาไทยหลายท่านที่รวบรวม อยู่ในงานเขียนเรื่อง วรรณกรรมปัจจุบัน ของ รศ.ไพรถ เลิศพิริยกมล รวมเป็นคำตอบดังนี้

เรื่องสั้นเป็นบันเทิงคดีร้อยแก้วชนิดหนึ่งที่ พัฒนาขึ้นจากอิทธิพลของงานเขียนทางประเทศตะวันตก คือ Short Story เขียนขึ้นจากจินตนาการซึ่งมีความสมจริง มีขนาดสั้น ใช้ตัวละครน้อย ดำเนินเรื่องรวดเร็วและมีจุดมุ่งหมายเดียว ที่เรียกว่าเรื่องสั้นก็เพราะกำหนดความยาวของเรื่องเอาไว้ คือระหว่าง 2,000-12,000 คำ อาจสั้นกว่าหรือยาวกว่านั้นก็ยังถือว่าเป็นเรื่องสั้น เช่น บางเรื่องอาจยาว 1 หน้ากระดาษฟูลสแก๊ป เรียกเรื่องสั้นขนาดสั้น ถ้าเรื่องยาวมากถึงขนาด 4 ตอนจบ เรียกเรื่องสั้นขนาดยาว

เกี่ยวกับ การเขียน ประภัสสร เสวิกุล อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่ง ประเทศไทย แนะนำว่า การจะเป็นนักเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยาย สิ่งที่ควรจะต้องมีคือ จินตนาการ ศิลปะการประพันธ์ ประสบการณ์ และ วิชาการตามสมควร เรื่องที่เขียนจึงจะออกมาชวนอ่านและมีสาระ หรือมีน้ำหนัก จินตนา การที่ดีจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นจริง เหมือนกับการที่ต้อง การจะปลูกดอกไม้สักชนิดหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับดอกไม้ชนิดนั้นอยู่บ้างพอสมควร ดินที่จะใช้ปลูกควรจะเป็นดินแบบไหน ลักษณะดอกและใบเป็นอย่างไร ถ้ารู้จักและมีประสบการณ์มาแล้วย่อมพูดถึงหรือบรรยายถึงได้อย่างถูกต้อง ทำให้อ่านแล้วเห็นภาพตามที่เขียนออกไปได้

ส่วนการที่จะเขียน เรื่องสั้นหรือนิยายเรื่องหนึ่งเรื่องใด เริ่มแรกต้องมีประเด็นที่ทำให้เกิดความสนใจพิเศษ บางครั้งสิ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นอาจจะเป็นแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ จะอย่างไรก็ตาม ถ้ารักจะเป็นนักเขียนขอแนะนำว่าต้องลงมือเขียน และเขียนจนกว่าจะค้นพบแนวการเขียนที่ถนัด

ตามหลักวิชาการ องค์ประกอบของเรื่องสั้นมี

1.แนวคิดหรือแกนนำของเรื่อง ต้องเป็นแนวคิดสำคัญที่มีลักษณะเด่น คมคาย มีเพียงแนวคิดเดียว

2.โครง เรื่อง ต้องมีลักษณะกะทัดรัด ไม่ยืดยาว ดำเนินเรื่องฉับไว ลักษณะของโครงเรื่องขึ้นอยู่กับชนิดของเรื่อง แต่เรื่องสั้นที่สร้างความประทับใจผู้อ่านมักเป็นเรื่องสั้นชนิดผูกเรื่อง โดยหักมุมจบให้ผู้อ่านคาดไม่ถึง

3.ตัวละคร ไม่ควรมีหลายตัว ต้องมีลักษณะสมจริง สะท้อนชีวิตหรือเป็นตัวแทนของบุคคลจริงๆ

4.ฉาก ต้องสมจริง ให้ภาพจินตนาการชัดเจน น่าสนใจ

5.ถ้อยคำหรือบทสนทนา สมจริง ใช้ภาษาประณีต คมคาย ชวนติดตาม

ทั้งนี้ การจะเป็นเรื่องสั้นต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ

1.การเปิด เรื่อง เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนเรื่องสั้นที่สำคัญ ถ้าเปิดเรื่องไม่ดี ไม่น่าสนใจ ก็ไม่มีคนอ่าน การเปิดเรื่องทำได้หลายวิธี เช่น พรรณนา ใช้บทสนทนา หรือสร้างนาฏการ สร้างเหตุการณ์ให้เกิดความสนใจอย่างรวดเร็ว

2.การ ดำเนินเรื่อง เป็นวิธีการเขียนเรื่องติดต่อกันเป็นเรื่องราวชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ สร้างความขัดแย้งและเล่าเรื่อง

3.การปิด เรื่อง อาจจบอย่างมีความสุข หรือโศกเศร้า หรือจบโดยให้คิดเอง

สรุป คุณสมบัติของเรื่องสั้น คือ 1.ตัวละครที่น่าสนใจ 2.เหตุการณ์ที่น่าสนใจ 3.การเปิดเรื่องที่เร้าใจ 4.จุดสุดยอด (climax) 5.การปิดเรื่องที่สมบูรณ์ 6.การใช้ภาษาเหมาะสม

ด้าน ศ.ฐะปะนีย์ นาครทรรพ สรุปถึงการเขียนเรื่องสั้นว่า "พึ่งประสบ การณ์ อ่านให้มาก นึกอยากเขียน เพียรฝึกฝน สนใจมนุษย์ จุดหมายเด่น เฟ้นภาษา หาเชื้อเพลิงและสำเริงอารมณ์"

Credit จาก เวปหนังสือพิมพ์ข่าวสด  วัน ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6507 ข่าวสดรายวัน
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNakl5TURrMU1RPT0=§ionid=Y25Wd1lXbHRiMlJs&day=TWpBd09DMHdPUzB5TWc9PQ==

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
รักทุกๆคน