ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    บทความวิชาเกรียน - ข้อมูลเทวดาฉบับฮาเฮ

    ลำดับตอนที่ #15 : พระนางปฤถวีเทวี : มารดาแห่งสรรพสัตว์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 553
      5
      25 มี.ค. 59

    พระนางปฤถวีเทวี : มารดาแห่งสรรพสัตว์


    ในตอนก่อน ๆ ได้กล่าวถึงเทวดาในคณะวสุเทพมาหลายองค์ เช่นเทพดวงอาทิตย์ เทพดวงจันทร์ เทพผู้ดูแลไฟ เทพผู้ดูแลลม หากจะไม่กล่าวถึงเทพอีกองค์ที่มีความสำคัญซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ก็ดูเหมือนจะขาดอะไรไป ดังนั้นในฉบับนี้จะกล่าวถึงเทพผู้ทำหน้าดูแลผืนดิน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ภูเทวี” “ปฤถวีเทวี” “วสุนธรา” หรือ “พระแม่ธรณี”

    เชื่อว่าก่อนที่ศาสนาจะเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู หรือศาสนาใดที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน มนุษย์นับถือทุกอย่างในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร ภูเขา ไฟ โดยกำหนดให้ธรรมชาติมีจิต มีวิญญาณ หรือเรียกแนวความคิดนี้ว่า “วิญญาณนิยม” (Animism) ซึ่งหนึ่งในวิญญาณธรรมชาติที่ถูกนับถือมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “พื้นดิน” ที่มนุษย์เหยียบอยู่ทุกวัน และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพาะปลูกของมนุษย์

    แม้ภายหลังด้านความเชื่อของมนุษย์จะมีการพัฒนามากขึ้น ไปสู่ศาสนาแบบพหุเทวนิยมอย่างศาสนาของกรีก – โรมันโบราณ ศาสนาของอียิปต์โบราณ ศาสนาของพราหมณ์-ฮินดู เทพเจ้าประจำธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชิดมนุษย์ ส่วนมากถูกลดบทบาทลงเป็นเทพชั้นรองจากเทพที่อยู่สูงบนสวรรค์ กลายเป็นผีสางนางไม้ ผีพราย ผีป่า เจ้าป่าเจ้าเขาซึ่งมีศักดิ์รองจากเทพบนที่สูง ถึงแบบนั้นเทพแห่งพื้นดินก็ยังไม่ถูกลดบทบาทเท่าไรนัก เช่น

    -          - ในคติความเชื่อของกรีก – โรมัน เทพีแห่งพื้นดินคือบรรพสตรีของทวยเทพบนโอลิมปัส

    -          - ในคติความเชื่อของอียิปต์ แม้เทพแห่งพื้นดินจะมีฐานะรองจากเทพดวงอาทิตย์ แต่เป็นบรรพบุรุษของเหล่าเทพชั้นหลัง ๆ ซึ่งปกครองบ้านเมือง

    -          - ในคติความเชื่อของพุทธ จากอรรถกถาที่อธิบายพระไตรปิฎก นางวสุนธรา เทพีแห่งพื้นดินนั้น เป็นสักขีพยานในการกระทำความดีของพระโพธิสัตว์ในหลายชาติที่ผ่านมา และเป็นผู้ยืนหยัดข้างมหาบุรุษเมื่อต้องเผชิญกับพญาวัสสวดีมาร แม้ว่าพระพรหม พระอินทร์และเหล่าเทพบริวารจะหนีพญามารไปสุดขอบจักรวาลแล้วก็ตาม

    -          - ในคติความเชื่อของพราหมณ์ เทพีแห่งพื้นดินมีศักดิ์เป็นมารดาของพระอินทร์ พระอัคนี และเหล่าเทพมากมาย

    -          - ในคติความเชื่อของฮินดู ซึ่งพัฒนามาจากความเชื่อของพราหมณ์แต่เดิม เชื่อว่านางภูเทวีเป็นบุตรสาวของกัศยปเทพบิดรเช่นเดียวกับพระอินทร์ ตำราบางเล่มเชื่อว่าเป็นชายาของเทพผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระวิษณุ บางแห่งก็ว่าเป็นชายาพระศิวะ บางแห่งก็ว่าเป็นชายาของพระอัคนี

    ว่าแล้วก็ขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาของนางตามคติของเอเชียใต้ – เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักหน่อย

    นอกจากมหาภารตะที่เอ่ยถึงเทวดาแห่งดินในกลุ่มวสุเทพ ว่าปรากฏบทบาทของเทพเพศชาย ชื่อ “ธาระ” อันมีความหมายถึงผู้ค้ำจุนแล้ว ในคัมภีร์ส่วนใหญ่จะเอ่ยถึงปฤถวีเทวีในฐานะผู้หญิงด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ในส่วนอื่นของมหาภารตะก็ปรากฏบทบาทเทพีแห่งดินเป็นหญิงเสมอ

    กำเนิดของนางปฤถวีนั้นมีหลายแหล่ง ในตำนานบางแหล่งระบุว่านางเกิดมาจากการสร้างของพระพรหมซึ่งอุบัติจากไข่ทองคำ และทำเปลือกไข่สร้างเป็นฟ้า “ทยาอุส” และดิน “ปฤถวี” ทว่าในบางตำนานจะระบุว่านางเป็นหนึ่งในบรรดาลูกของกัศยปเทพบิดร

    บางตำนานกล่าวว่านางเป็นมารดาของพระอังคาร โดยรับน้ำเชื้อจากพระศิวะที่หล่นมากระทบพื้นดินอันเป็นร่างของตน แต่บางแห่งบางว่าพระอังคารเกิดมาจากพระอัคนีกับนางที่ต้องมีสัมพันธ์กันด้วยบัญชาของพระพรหม แต่นั่นก็ไม่น่าตื่นเต้นโรแมนติกเท่าตำนานที่ผมกำลังจะเล่า

    ในมหากาพย์มหาภารตะ และรามเกียรติ์ของไทย เล่าว่าในสมัยอดีตกาลอันไกลโพ้นโน้น มีพญายักษ์นาม “หิรัณยักษะ” (หิรันต์ยักษ์ก็ว่า) บุตรแห่งกัศยปเทพบิดร ซึ่งบำเพ็ญเพียรที่เขาวินันตกะ หนึ่งในเขาสัตบริภัณฑ์ จนกระทั่งได้พรจากพระศิวะ ให้มีอิทธิฤทธิ์มหาศาล และไม่ตายด้วยอาวุธ และไม่ตายด้วยฝีมือเผ่าพันธุ์เทวดาทั้งหลาย

    พอได้รับพรจากพระศิวะปุ๊บ เจ้าหิรัณยักษะก็คิดจะล้างโลกขึ้นมาทันทีทันใด ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน มันจึงเริ่มปฏิบัติการ ม้วนเอาแผ่นทวีปทั้งหลายเอาไปไว้ใต้บาดาลให้หมด!

    เหล่าเทวดานางฟ้าทั้งหลายเห็นก็ตกใจ หนีไปฟ้องพระศิวะว่าหิรัณยักษะมันจะทำลายล้างโลกนี้แล้ว แต่พระศิวะก็ฆ่ามันไม่ได้เหมือนกัน เพราะไปให้พรไม่ให้มันตายด้วยฝีมือเทพเจ้า แถมตัวเองก็เอาพรคืนไม่ได้ ก็เลยต้องไปปรึกษากับพระวิษณุ ผู้ทำหน้าที่ปกป้องโลก ให้หาทางทำอะไรเพื่อปกป้องโลกสักหน่อย

    พระวิษณุฟังเงื่อนไขพรของพระศิวะก็คิดขึ้นมาได้ ว่าถ้ามันไม่ตายด้วยอาวุธ ไม่ตายด้วยน้ำมือเทพ ก็ต้องอวตารเป็นสัตว์ไปสู้กับมันสิ ว่าแล้วก็อวตารเป็นหมูป่ายักษ์ไปสู้กับเจ้าหิรัณยักษ์ ซึ่งเจ้ายักษ์ก็สู้ไม่ไหว โดนหมูขวิดตาย หมูพระวิษณุเลยงัดแผ่นดินขึ้นมาดังเดิม

    ระหว่างที่งัดเอาปฤวีเทวีขึ้นมาจากใต้บาดาลนั้น ไม่รู้ว่าไปงัดกันอีท่าไหนไม่ทราบ หมูพระวิษณุจึงได้มีเพศสัมพันธ์กับนางปฤถววีเทวีเสียอย่างนั้น มีสัมพันธ์กันทั้งที่พระวิษณุยังเป็นหมูอยู่นี่แหละ แถมยังมีบุตรด้วยกันจากสัมพันธ์สวาทหนนั้นด้วย... ดังนั้นนางปฤถวีเทวีจึงถูกจัดว่าเป็นชายาของพระวิษณุไปโดยปริยาย

    บางแห่งได้อธิบายว่านางกับพระลักษมีนั้นเป็นองค์เดียวกัน แต่แยกออกมาเป็นสองภาค ซึ่งโดยส่วนตัวผมนั้นไม่เชื่อเท่าไร เพราะมันดูขัดแย้งกับเนื้อหาของรามายณะบางแหล่ง ที่นับว่านางสีดาผู้เป็นอวตารของพระนางลักษมีเป็นลูกของปฤถวีเทวี นอกจากนี้ในมหาภารตะ เมื่อพระวิษณุอวตารมาเป็นพระกฤษณะ พระนางลักษมีอวตารเป็นนางรุกมินี พระนางปฤถวีก็ได้อวตารมาเป็นนางสัตยภามาด้วย

    ในอินเดียตามคติพราหมณ์ – ฮินดูนั้นแทบไม่ปรากฏรูปเคารพของเทพีองค์นี้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเทพีอรูปกะ คือเทพีที่ไร้รูปร่าง ที่สถิตอยู่ในพื้นดินที่ปรากฏในทุกที่ซึ่งมนุษย์เหยียบย่างไปอยู่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญจึงปรากฏร่างออกมาเช่นเทวดาอื่น ๆ สักครั้งหนึ่งในรูปของเทพธิดาผิวเข้ม อกใหญ่ เอวเล็ก สะโพกผาย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการแสดงความเคารพเทพีองค์นี้จึงเพียงแค่ทำความเคารพพื้นดินเท่านั้น


    รูปเคารพของปฤถวีเทวีในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู

    ในไทยนั้นจะปรากฏรูปเคารพของเทพีแห่งดินอยู่มาก โดยปรากฏในลักษณะของผู้หญิงหน้าอกใหญ่ สะโพกผาย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับคติพราหมณ์ – ฮินดู ต่างกันที่พระแม่ธรณีของคติพุทธจะมีมวยผมยาวสลวย เนื่องจากสร้างขึ้นมาตามความเชื่อว่านางวสุนธราเป็นผู้นำเส้นผมรองรับน้ำทักษิโณทกของพระโพธิสัตว์มาทุกชาติ


    พระแม่ธรณีในศิลปะพุทธ

    ว่าแล้วก็ขออธิบายสักนิดเกี่ยวกับน้ำทักษิโณทก คำนี้มีที่มาจาก “ทักษิณา” ซึ่งหมายถึงของทำบุญ กับ “อุทก” หมายถึงน้ำ รวมกันจึงหมายความว่าน้ำที่หลั่งรินเพื่อแสดงการทำทาน เช่นการกรวดน้ำของคนไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการรินน้ำทักษิโณทกในการแสดงถึงการบริจาคของขนาดใหญ่เกินกว่าจะหยิบยกได้ เช่นที่ดิน ศาลา วิหาร และนางวสุนธราจะเอามวยผมของตนรองรับน้ำเหล่านี้เอาไว้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าพระโพธิสัตว์เคยทำบุญมาแล้วจริง ซึ่งการทำบุญของพระโพธิสัตว์ในแต่ละชาตินั้นมหาศาลราวมหาสมุทรเลยทีเดียว

    เนื่องจากเชื่อว่าพระแม่ธรณีสถิตอยู่ในพื้นดินซึ่งค้ำจุนแบกรับทุกสรรพสิ่ง ดังนั้นพื้นดินก็จะเป็นพยานในการทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์ จึงมีคำสาบานอ้างฟ้าดินเป็นพยานอยู่บ่อย ๆ ที่โด่งดังมากได้แก่โคลงสี่สุภาพที่ศรีปราชญ์แต่งไว้ก่อนโดนประหารว่า

    “ธรณีนี่นี้                        เป็นพยาน

    เราก็ศิษย์มีอาจารย์          หนึ่งบ้าง

    เราผิดท่านประหาร          เราชอบ

    เราบ่ผิดท่านมล้าง           ดาบนี้ คืนสนอง”

    เนื่องจากเป็นผู้ค้ำจุนสรรพสิ่ง พระแม่ธรณีจึงมีความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาและพฤกษศาสตร์ ดังปรากฏในคัมภีร์ของชาวล้านนาชื่อ "พิสนูถามนางธรณี” ซึ่งเป็นเรื่องที่พระวิศวกรรม ได้คุยกับนางปฤถวี เกี่ยวกับทำเลที่ตั้งบ้านเรือนของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับลักษณะของพื้นดิน และต้นไม้ชนิดใดควรปลูกบริเวณบ้านหรือไม่ควรปลูก ก่อนที่พระวิศวกรรมจะถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้แก่มนุษย์ นั่นก็ไม่แปลกที่เวลาสร้างอาคารบ้านเรือน จะต้องมีพิธีกรรมสักการะนางธรณีเสมอ เพราะให้ความเคารพนางเนื่องจากสร้างบ้านบนร่างกายของนางคือแผ่นดิน และอาจเคารพในฐานะผู้ให้คำปรึกษาแก่พระวิศวกรรมในเรื่องการสร้างบ้านเรือน

    ความสำคัญในฐานะผู้ค้ำจุนสรรพสิ่ง ผู้ทำให้พื้นผลเจริญงอกงาม ผู้เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดประหนึ่งมารดา ทำให้นางถูกยกให้เป็น “พระแม่” หรือมารดาของสัตว์ทั้งหลาย แม้ว่าจะไม่ได้ให้กำเนิดมาโดยตรงก็ตาม แต่ก็ค้ำจุนผู้กำเนิดมาในความรับผิดชอบของตนไม่ต่างจากมารดา จนพืช สัตว์ และมนุษย์ทั้งหลายเติบโตขึ้นมาได้

    การกระทำของพระนางปฤถวีเทวีนั้น ควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้เป็นผู้ใหญ่ มีอำนาจเงินทองร่ำรวย ที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นที่ด้อยโอกาส ไม่ต่างจากที่ดูแลลูกหลานตัวเอง เพื่อพวกเขาจะได้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

    ขณะที่ผู้น้อยซึ่งได้รับความอุปการะและความเอ็นดูจากผู้ใหญ่ ก็ควรจะรู้คุณท่าน นับถือท่านประหนึ่งญาติ และตอบแทนเมื่อมีโอกาสอันสมควร เหมือนดังที่คนโบราณยกเอานางปฤถวีให้เป็นพระแม่ และสักการะบูชาอยู่เสมอ

    ไว้พบกันใหม่ตอนหน้าครับ

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×