เทคนิคฟันขาว สร้างรอยยิ้มอย่างมั่นใจ
รศ. ทพ. ดร. ชัยวัฒน์ มณีนุษย์ ผู้ชำนาญการสาขาทันตกรรมหัตการ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "โดยธรรมชาติแล้วฟันมีสีขาวอมเหลือง จะดูขาวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ความหนา องค์ประกอบ และโครงสร้างต่างๆ ของฟัน ซึ่งในฟันแต่ละซี่ประกอบด้วยเคลือบฟัน (enamel) สีขาวใสห่อหุ้มเนื้อฟัน (dentin) ซึ่งมีสีขาวอมเหลืองไว้ โดยมีโพรงฟัน (pulp cavity) ซึ่งมีสีค่อนข้างแดง (เพราะเป็นศูนย์รวมของเส้นเลือดและเส้นประสาท) อยู่ข้างในสุด
"หากสังเกตฟันหน้าของเราให้ดีจะ เห็นว่า คอฟันมักมีสีค่อนข้างเข้มเนื่องจากเนื้อฟันหนาและเคลือบฟันบาง ช่วงกลางฟันมีสีค่อนข้างขาวเพราะเคลือบฟันหนา ส่วนปลายฟันสีออกขาวใสเพราะเป็นส่วนของเคลือบฟัน สำหรับฟันที่หนาและใหญ่ เช่น ฟันเขี้ยวและฟันกรามน้อย จะมีสีเข้มกว่าฟันหน้าซี่อื่นเพราะมีเนื้อฟันมากกว่า"
กลไกที่ทำให้ฟันเปลี่ยนสี
ตอนเด็กๆ ฟันของเราค่อนข้างขาว แต่เมื่ออายุมากขึ้นฟันของเราจะมีสีเข็มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากองค์ประกอบในฟันมีการเปลี่ยนแปลง เคลือบฟันจะบางลงเรื่อยๆ และอาจมีรอยร้าว ประกอบกับตัวฟันสร้างเนื้อฟันมากขึ้น สภาพของเนื้อฟันบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป เหงือกที่อยู่โดยรอบตัวฟันอาจร่นขึ้น ส่วนของรากฟันซึ่งตามธรรมชาติมีสีค่อนข้างเหลืองจึงโผล่ออกมา
นอกจากนี้ยังมีสีจากภายนอกเช่น คราบบุหรี่ ชา กาแฟ หรือสีของอาหาร เข้ามาติดที่ผิวหน้าฟัน ตามปกติเราขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันหรือให้ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือขัดออก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเม็ดสีส่วนหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก แทรกซึมเข้าไปติดอยู่ในส่วนของเคลือบฟัน เม็ดสีเหล่านี้จะทำให้ฟันมีสีเข้มขึ้น และไม่สามารถขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันหรือการขัดฟัน
สารพันวิธีเพื่อฟันขาว
การขัดฟัน ขูดหินปูน ช่วยขจัดคราบสี คราบอาหาร หรือหินปูนที่ติดบนชั้นเคลือบฟัน และตามซอกเหงือก ซอกฟันออกไป ควรหมั่นพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนทุก 6 เดือน
การฟอกสีฟัน เป็นวิธีกำจัดเม็ดสีขนาดเล็กที่ติดอยู่ในชั้นเคลือบฟัน ซึ่งการขูดหินปูนหรือการขัดฟันไม่สามารถขจัดออกไปได้ โดยใช้สารเคมีที่มีส่วนประกอบสำคัญ คือ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ซึ่งจะแตกตัวให้อนูมูลอิสระ เช่น ออกซิเจน ไปทำหน้าที่แตกโมเลกุลของเม็ดสีที่ติอยู่ในชั้นเคลือบฟัน ทำให้มีขนาดเล็กลงและมีสีจางลง หรือกลายเป็นสารที่ไม่มีสีแทน จึงทำให้ฟันขาวขึ้น ตัวยาฟอกสีฟัน เดิมใช้สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูง ชุบสำลีวางบนหน้าฟัน แล้วกระตุ้นด้วยความร้อนเพื่อให้ปล่อยสารอนุมูลอิสระออกมาทำลายเม็ดสีทันที แต่มีข้อเสียคือ จะทำอันตรายเหงือกและรากฟันไปด้วย ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนามาเป็นเจล ชื่อว่าเจลคาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ (Carbomide peroxide) ซึ่งมีความหนืดกว่า นำมาทาเฉพาะบริเวณได้ โดยเจลนี้จะแตกตัว 2 ครั้ง ก่อนทำลายเม็ดสีที่ฟัน จึงปลอดภัยกับเหงือกและรากฟันมากกว่า
วิธีฟอกสี ฟันโดยทันตแพทย์มี 2 วิธีดังนี้
การฟอกสีฟันแบบใช้ถาด
วิธีการ : พิมพ์รูปร่างฟันทั้งปากและทำถาดพลาสติกที่เหมาะกับฟันของผู้ป่วย จากนั้นใส่เจลที่มีความเข้มข้นค่อนข้างต่ำลงไป แล้วครอบฟันไว้ อุณหภูมิในช่องปาก (37 องศาเซลเซียส) จะทำให้เกิดปฏิกิริยาในการฟอกสีฟัน การฟอกแบบนี้มีทั้งแบบที่ใส่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 นาที 2-3 ครั้งต่อวัน หรือใส่ก่อนนอนจนถึงเช้า
ระยะเวลา : 7-10 วัน
ข้อดี
เลือกจำนวนซี่ฟันที่ต้องการฟอกได้มากกว่า
ฟอกสีฟันให้ขาวถูกใจได้ตามต้องการ เพราะทำซ้ำได้เองที่บ้าน
ราคาถูก ทำได้ที่โรงพยาบาลรัฐบาล
ข้อเสีย
ใช้เวลานาน
ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก
ผล ข้างเคียง : ขณะที่ฟอกอาจมีอาการเสียวฟัน ซึ่งจะหายได้เองหลังฟอกเสร็จแล้ว
ค่าใช้จ่าย : โรงพยาบาลรัฐบาล ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท
การฟอกสีฟันโดยใช้แสงร่วมกับเจลความเข้ม ข้นสูง
วิธีการ : ใช้แสงที่มีความยาวคลื่นเฉพาะเช่น เลเซอร์ หรือแสงสีฟ้าที่มีต้นกำเนิดแสงเป็นพลาสม่าหรือไดโอท ส่งไปให้ตัวรับแสงซึ่งผสมอยู่ในเจลเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกตัวของสารฟอกสี ฟัน การฟอกแบบนี้ใช้สารที่มีความเข้มข้นค่อนข้างสูง จึงต้องระวังเนื้อเยื่อส่วนอื่น เช่นเหงือก กระพุ้งแก้มและริมฝีปาก รวมทั้งต้องระวังแสงที่ใช้ซึ่งอาจทำอันตรายต่อเรติน่าในตาด้วยการปิดเหงือก ปิดตาหรือใส่แว่นกันแสง
ระยะเวลา : 1-2 ชั่วโมง
ข้อดี
- รวดเร็ว
- ไม่ต้องไปทำต่อที่บ้าน
ข้อ เสีย
- สีฟันขาวขึ้นน้อยกว่า เพราะฟอกเพียงครั้งเดียว
- ฟอกเฉพาะฟันหน้าที่ยิ้มแล้วมองเห็น ไม่สามารถฟอกฟันซี่ด้านในได้
- รับบริการได้ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น
ผลข้างเคียง : ขณะที่ฟอกอาจมีอาการเสียวฟัน ซึ่งจะหายได้เองหลังฟอกเสร็จแล้ว
ค่าใช้จ่าย : โรงพยาบาลเอกชน /คลินิก ราคาประมาณ 7,000-18,000 บาท
หลังจากฟอกฟันแล้ว ควรรักษาความสะอาดฟันและขูดหินปูนกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือน และพึงระลึกไว้เสมอว่า สีของฟันไม่ขาวถาวร เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจัยทั้งภายนอกและภายในฟันดังที่กล่าวมาแล้ว อาจทำให้สีฟันเข้มขึ้นได้อีก
ความคิดเห็น