หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ใครแต่ง : Aqouze
21 เม.ย. 56
80 %
8 Votes  
#41 REVIEW
 
เห็นด้วย
10
จาก 10 คน 
 
 
วิจารณ์ พาราเรล ออนไลน์ [ online ]

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 4 ต.ค. 55

นิยายเรื่อง “พาราเรล ออนไลน์” เป็นนิยายแฟนตาซีแนวเกมออนไลน์ที่ผู้แต่งคือ Aqouze มาฝากไว้ให้วิจารณ์ ปัจจุบันเรื่องราวดำเนินมาได้ 16 ตอน รวมบทนำ ตัวละครเอกเป็นคนตาบอดที่ได้มีโอกาสมองเห็นโดยใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง จึงทำให้ดูเหมือนว่านิยายเรื่องนี้จะมีตัวละครที่น่าสนใจกว่านิยายเกมออนไลน์เรื่องอื่นๆ ที่มีตัวละครเป็นเพียงคนปกติธรรมดา

มิเชล เด็กสาวผู้พิการซ้ำซ้อนคือตาบอดและหูหนวก จึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน ได้ไปโรงเรียนเพียงสัปดาห์ละวัน แต่ก็โชคดีที่คุณพ่อของเธอเป็นคนที่พอจะมีฐานะและทำงานอยู่ในบริษัทโปรแกรม จึงได้ให้มิเชลใช้โปรแกรม “วิชวลเวิร์ล” เพื่อให้ลูกสาวได้มีโอกาสมองเห็นในห้องเสมือนจริงตั้งแต่มิเชลยังเป็นเด็ก ต่อมาเมื่อเธออายุได้สิบสามปี เมื่อเข้าไปในวิชวลเวิร์ล ซึ่งมิเชลก็หลุดเข้าไปในโลกของเกมออนไลน์ที่ชื่อ “พาราเรล ออนไลน์” โดยบังเอิญ และเริ่มผจญภัยในโลกของเกมมาตั้งแต่ตอนนั้น

ผมคิดว่าเกมพาราเรลออนไลน์ จัดได้ว่าเป็นเกมออนไลน์ประเภท Massive Multiplayer Online Role-Playing Game (MMORPG) คือเป็นเกมประเภทที่ผู้เล่นต้องสวมบทบาทเป็นผู้กล้าเข้าไปผจญภัย กำจัดสัตว์ประหลาด และไขปริศนาต่างๆ ในโลกของเกม เกมประเภทนี้จะไร้จุดจบ ผู้เล่นจะได้สร้างตัวละครที่มีความหล่อหรือสวยตามความต้องการของตนเอง และได้เข้าสังคมกับเพื่อนๆ ต่างอาชีพ เพื่อไปผจญภัยเก็บประสบการณ์ เดินทางไปยังเมืองต่างๆ ช่วยแก้ปัญหา ต่อสู้กับทั้งสัตว์ประหลาด ปิศาจ และแม้กระทั่งผู้เล่นด้วยกันเอง เรียกได้ว่าโลกของเกมออนไลน์ ก็เปรียบเสมือนสังคมจำลองที่แตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงคือผู้เล่นจะมีความสามารถราวกับเป็นตัวละครในนิยายหรือภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดาบ ยิงธนู ใช้เวทมนตร์ หรือค้าขาย ตามอาชีพที่ผู้เล่นไว้เลือกไว้ และได้พบเห็นสิ่งแวดล้อมที่งดงามตามจินตนาการของผู้สร้างเกม ในปัจจุบันเกมออนไลน์ประเภทนี้พัฒนามาจนมีภาพกราฟิกที่สวยงามคล้ายภาพยนตร์ และทำให้ผู้เล่นบางคนเสพติดการเล่นเกม เพราะติดการมีความสามารถ รูปร่างหน้าตา ตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่อาจทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

เมื่อ พาราเรล ออนไลน์ เป็นเกมออนไลน์ในโลกอนาคตที่สามารถสร้างโลกเสมือนจริงให้กับทุกประสาทสัมผัส อีกทั้งมิเชลและโทนี่เพื่อนในห้อง ทั้งสองเป็นเด็กตาบอดที่มองเห็นได้เฉพาะในเกม จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองจะติดเกมๆ นี้ ซึ่งประเด็นนี้ รวมถึงการดำรงชีวิตของคนตาบอดที่ผู้เขียนสนใจจนเป็นแรงบันดาลใจของนิยายเรื่องนี้ น่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ เท่าที่อ่านดูนอกจากการใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงของพวกมิเชลแล้ว ยังไม่เห็นเรื่องราวของคนตาบอดชัดเจนนัก แต่ในตอนหลังๆ ของนิยายเริ่มแสดงให้เห็นว่ามิเชลและโทนี่ติดเกมมากขึ้น จึงหวังว่าผู้เขียนจะเขียนถึงประเด็นนี้มากขึ้นต่อไป

การอ่านนิยายเรื่องนี้ค่อนข้างได้บรรยากาศของเกมออนไลน์ กล่าวคือมีการเลือกอาชีพ จับกลุ่มกับเพื่อน ไปไขปริศนา แก้ปัญหา และผจญภัยตามสถานที่ต่างๆ ตามที่ quest ในเกมกำหนดให้ ต้องมีการสะสมประสบการณ์เพื่อเลื่อนระดับหรือที่เรียกว่า “เก็บเลเวล” มีการแนะนำการปรับปรุงค่า status ของตัวละครว่าควรเน้นไปที่ด้านใดด้านหนึ่ง การเก็บของหรือไอเท็มต่างๆ สังคมในเกมที่มีพวกอันธพาลจับกลุ่มกันมาก่อกวน และสถานที่ต่างๆ ในเกมที่มีความหลากหลาย ซึ่งต้องขอชมเชยว่าผู้เขียนบรรยายได้อย่างเห็นภาพ แต่การบรรยายให้เป็นเกมออนไลน์ก็มีข้อเสีย คือการที่ต้องอ่านเรื่องราวของการเก็บเลเวล อัพ status และต้องอ่านว่าในกระเป๋ามีไอเท็มอะไรบ้าง โดยเฉพาะถ้าเป็นไอเท็มที่ไม่มีความพิเศษ ก็ค่อนข้างน่าเบื่อ และอีกประเด็นที่อยากพูดถึงคือ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริง ผู้เล่นเกมออนไลน์มีโอกาสได้พบปะกับและร่วมต่อสู้กับผู้เล่นอื่นอีกจำนวนมาก อาจจะมีการเปลี่ยนกลุ่มอยู่เสมอ แต่เมื่อเป็นนิยายแล้ว การที่มิเชลเปลี่ยนกลุ่มผจญภัยบ่อยๆ ทำให้ผู้อ่านต้องจดจำตัวละครจำนวนมาก ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีบทมากเท่าไรนัก เมื่อผู้เขียนทิ้งตัวละครโดยให้มิเชลไปหาผู้เล่นกลุ่มอื่นเป็นเวลานาน แล้วกลับมาอ้างถึงอีกครั้ง ทำให้ผู้อ่านจำไม่ได้ว่าตัวละครที่พูดถึงนี้เป็นใคร จึงอยากให้ผู้เขียนลดตัวละครและหันมาเพิ่มบทบาทตัวละครหลักๆ ให้มากขึ้น

ถึงแม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเป็นแนวเกมออนไลน์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นนิยายแฟนตาซี ที่ผู้เขียนอาจใช้จินตนาการได้มากกว่านิยายประเภทอื่นๆ แต่นิยายแฟนตาซีก็มีความสมจริงในแบบของตัวเองเช่นกัน จึงอยากให้ผู้เขียนได้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย เพราะมีหลายครั้งที่เรื่องราวในนิยายอ่านแล้วรู้สึกไม่สมจริง เช่น การที่มิเชลเข้าเกมครั้งแรกแล้วสามารถกำจัดสัตว์ประหลาดในเกมโดยใช้ฟันกัดได้อย่างเลือดเย็น จะเป็นไปได้หรือ เมื่อเธอเป็นเพียงเด็กหญิงอายุ 13 ปี หรือตอนที่ต้องใช้กระต่ายกับภูตแคระเป็นผู้ช่วยในการผจญภัย แล้วผู้เล่นเกมก็ปล่อยให้ผู้ช่วยเหล่านี้สละชีวิตอย่างง่ายๆ หากโลกเสมือนจริงในเกมนี้ให้สัมผัสที่เหมือนโลกแห่งความเป็นจริงมากดังที่ผู้เขียนกล่าวอ้าง การฆ่าเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายเลย ถึงแม้เกมนี้จะเป็นแนว MMORPG ที่ต้องฆ่าสัตว์ประหลาดเพื่อเก็บประสบการณ์ แต่เมื่อโลกอนาคตสามารถสร้างเกมให้ล้ำสมัยได้แล้ว บริษัทผู้สร้างเกมก็ไม่น่าพลาดที่จะออกแบบระบบการเก็บประสบการณ์ในเกมให้ดีขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ผมยังสงสัยว่าฉากจบของนิยายเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ในเมื่อเกมออนไลน์ที่เล่นกันอยู่ทุกวันนี้นั้นไม่มีฉากจบ แต่เมื่อนำมาแต่งเป็นนิยายแล้ว นิยายนั้นก็ต้องมีฉากจบของเรื่อง เท่าที่อ่านมายังไม่พบสิ่งที่จะนำไปสู่ฉากจบของนิยายเรื่องนี้ได้ จึงคาดหวังว่าจะพบเงื่อนงำที่นำไปสู่ฉากจบของเรื่องเมื่ออ่านต่อไป
     
 
ใครแต่ง : snowy_cat
24 ธ.ค. 54
80 %
47 Votes  
#42 REVIEW
 
เห็นด้วย
10
จาก 11 คน 
 
 
บทวิจารณ์ วีวิทช์...ปรารถนาแห่งแม่มด

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 14 ก.ค. 53
นิยาย วิวิทช์ ... ปรารถนาแห่งแม่มด ของ snowy_cat ที่ขณะนี้โพสต์ถึงบทที่ 14 แล้วนั้น นำเสนอเรื่องราวแนวรักเศร้าๆของ โซราปิย่า เครเตอร์ส สาวน้อยแม่มดที่ไม่ต้องการมีชีวิตอย่างแม่มด ขณะเดียวกันก็ปราถนาที่จะใช้ชีวิตอยู่กับชายหนุ่มที่เป็นคนธรรมดาผู้เป็นเสมือนแสงสว่างท่ามกลางความมืดของเธอ ทว่าวิถีแห่งแม่มดกลับเป็นอุปสรรคสกัดกั้นความฝันที่ปรารถนา

ผู้วิจารณ์ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีคำโปรยของผู้แต่งในตอนต้นที่สรุปเรื่องย่อทั้งหมดไว้ ก็คงยังสับสนและไม่สามารถบอกได้ว่าผู้แต่งต้องการนำเสนอเรื่องนี้ไปในทิศทางใด ที่เป็นเช่นนี้เพราะเนื้อหาทั้ง 14 บท ยังเพิ่งจะเสนอให้เห็นแต่เพียงการปฏิเสธวิถีแห่งแม่มดของโซราปิย่า ซึ่งมูลเหตุของการปฏิเสธครั้งนี้ก็ไม่เกี่ยวกับชายหนุ่มคนธรรมดาที่เธอหลงรักแต่อย่างใด หากเกิดมาจากความผิดหวังใน ซิเอโล่ เวเนฟิซ ชายหนุ่มเชื้อสายแม่มดที่เป็นรักแรกของเธอ จึงเห็นได้ว่าแม้จะยังไม่เปิดตัวพระเอก แต่นางเอกของเราก็ปฏิเสธชีวิตแบบแม่มดอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้ง ผู้แต่งยังนำเสนอโครงเรื่องรอง (sub-plot) ที่เป็นอิสระจากโครงเรื่องหลักอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องราวความรักสี่เส้าระหว่าง แมทเธียส เกรซาเบอร์ ชายหนุ่มเจ้าเสน่ห์ กับบรรดาสาวๆอีก 3 คน คือ ไอลีน โทรว (เพื่อนสาวร่วมโรงเรียน) ราเน่ (หญิงสูงศักดิ์) และ พริมอร์ (ญาติผู้น้อง) ความพยายามของ ซิเอโล่ ที่จะปรับความเข้าใจและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเขาและโซราปิย่าให้กลับมาดีดังเดิม ความพยายามของลอมที่จะชักจูงให้โซราปิย่ายอมกลับเข้ามาอยู่ท่ามกลางพวกพ้องอันเปรียบเสมือนครอบครัวของเธออีกครั้ง หรือแม้กระทั่งคำทำนายล่าสุดที่เกี่ยวกับการไล่ล่าลอม ผู้นำสูงสุดของกลุ่มแม่มดของโซราปิย่า ดังนั้น หากผู้แต่งยังไม่นำเสนอโครงเรื่องหลัก (plot) ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โครงเรื่องย่อยจำนวนมากที่รายล้อมเหล่านี้จะงยิ่งดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ไข้วเขวไปจากโครงเรื่องหลักที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอไปอย่างน่าเสียดาย

ประกอบกับความกล้าๆกลัวๆของผู้แต่งในการเปิดเผยชีวิตและตัวตนที่แท้จริงของโซราปิย่าและพวกพ้องของเธอในฐานะแม่มด เพราะตลอดมานำเสนอแต่เพียงลักษณะเฉพาะบางประการของแม่มดที่ผู้อ่านจะต้องคาดเดาเอง จากการเก็บรวมรวมเศษเสี้ยวของข้อมูลที่ผู้แต่งทิ้งไว้ เพื่อนำมาอนุมานร่วมกับประสบการณ์ส่วนตนที่เคยรับรู้เกี่ยวกับแม่มดว่า ตัวละครตัวใดเป็นแม่มดบ้าง เช่น แม่มดมักจะมีสัตว์รับใช้เป็นแมวสีดำที่พูดและแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ ขณะที่ทำพิธีมักจะมีผู้ทำพิธี 13 คน ซึ่งก่อนทำพิธีจะมีการโรยเกลือไว้โดยรอบวงพิธี และนิยมใช้เทียนสีดำ หรือการชุมนุมของแม่มดมักจะชุมนุมกันเดือนละครั้งในวันพระจันทร์เต็มดวง และวันฮาโลวีนก็ถือว่าเป็นวันชุมนุมที่สำคัญหนึ่งของชาวแม่มด และยังพบอีกว่าไม่มีตอนใดเลยของเรื่องที่ผู้เขียนจะบอกไว้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นแม่มด ทั้งๆที่ชื่อเรื่องก็ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นเรื่องราวของแม่มด

นอกจากนี้ ยังมีตัวละครบางตัวที่ผู้อ่านเองก็ไม่สามารถระบุได้ว่าพวกเขาควรจะจัดอยู่ในกลุ่มใด เช่น แมทเธียส และ พริมอร์ ที่มีลักษณะบางอย่างที่ต่างจากคนธรรมดา และพวกเขาก็ดูถูกมนุษย์ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีลักษณะพิเศษแหมือนกับพวกของโซราปิย่า เช่น มีผิวขาวกว่าคนปกติ อ่านภาษาเวทมนตร์ได้ และมีกลิ่นแห่งความมืด แต่พวกเขาก็ไม่ใช่แม่มดในกลุ่มของโซราปิย่าอีกเช่นกัน ทั้งยังมีเกรเกอรี่ เวลส์ เด็กชายที่มองเห็นร่างที่แท้จริงของอัสโทรว่าเป็นแมว ทั้งๆที่เขายังอยู่ในร่างมนุษย์ และมองเห็นภาพในอนาคตได้ หรือ อเล็กซาน คาร์วาล์ด พี่ชายของเวลส์ ผู้ที่ทำให้โซราปิย่ารู้สึกว่าเธอถูกดูดเข้าไปในความเงียบขณะที่เข้าใกล้เขา จึงคาดหวังว่าผู้แต่งจะเฉลยให้ทราบในบทต่อๆ ไปว่าแท้ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้คือใคร และมีความสำคัญกับเรื่องอย่างไร

แม้ว่าการสร้างตัวละครยังขาดความชัดเจนในบางแง่ แต่ความหลากหลายของตัวละคร ก็นับเป็นจุดเด่นของเรื่องนี้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะมีทั้งตัวละครที่อยู่ในเผ่าพันธุ์แม่มด มนุษย์ธรรมดา รวมไปถึงสัตว์รับใช้ จะพบว่า ผู้แต่งมักจะมอบบทให้ตัวละครกลุ่มแม่มดต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่หม่นเศร้า ต่างจากมนุษย์ธรรมดา ที่เผชิญสถานการณ์ที่นำเสนออารมณ์ได้หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะรัก โกรธ หรือริษยา และยังมีกลุ่มสัตว์รับใช้ที่แปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ ก็ดูจะเป็นกลุ่มตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเรื่องได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นควี นกฮูกขี้หลีที่ชอบหนีนายตัวเองไปจีบสาว อัสโทร ลูกแมวหนุ่มเจ้าปัญหาที่ชอบก่อความวุ่นวายให้กับซิเอโล หรือแม้แต่เฮจิโซ่ นกสีดำที่ชอบยั่วแหย่ แมทเธียส ผู้เป็นเจ้านายของตน
การสร้างปริศนาและความลับนับเป็นกลวิธีหลักที่ผู้แต่งนิยมใช้ จะพบว่าตัวละครเกือบทุกตัวต่างก็มีความลับเฉพาะตนซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการแลกอิสรภาพของเฟรเดอริค เคอเรนซ์ ด้วยการสอบเข้า โกลเดน แกรนเจอร์ มหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศ ความสำคัญของราเน่ ที่ทำให้แมทเธียส ต้องยอมปฏิบัติตามความปรารถนาทุกอย่างของเธอ และยกย่องให้เธอเป็นใหญ่กว่าใครทั้งปวง ในฐานะราชินีแห่งความบริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันความสำคัญของพริมอร์ต่อแมทเธียส ก็มากจนกระทั่งเป็นเหตุให้แมทเธียสทะเลาะกับราเน่ (ผู้เป็นเสมือนทุกอย่างของเขา) และเขาเองก็ยอมรับ “ถ้าไม่มีเธอ (พริมอร์) เขาคงตายไปนานแล้ว” หรือตัวตนที่แท้จริงของเด็กหนุ่มผม
บลอนด์ ผู้มีนัยน์ตาสีชาที่ทำให้ เจสสิกา เจ้าของร้านกาแฟที่โซราปิย่าทำงานอยู่หลงชอบ ทั้งยังเป็นคนเดียวกับที่ทำให้โซราปิย่าได้รับสัมผัสแปลกๆ เมื่ออยู่ใกล้เขาด้วย หรือแม้แต่ความเป็นมาของเกรเกอรี่ เด็กน้อยผู้มองเห็นอนาคตของการไล่ล่าผู้นำของโซราปิย่า ผู้วิจารณ์เห็นว่าการสร้างความลับและปริศนานับเป็นลูกเล่นหนึ่งที่ช่วยสร้างเรื่องให้น่าติดตามและเพิ่มความตื่นเต้นมากขึ้น แต่ผู้แต่งก็ควรที่จะคลี่คลายความลับที่สร้างไว้บ้างเพื่อให้ผู้อ่านมีส่วนรับรู้ความลับดังกล่าวด้วย เพราะยิ่งผู้แต่งยังกุมความลับทั้งหมดไว้กับตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งเท่ากับเป็นการกันผู้อ่านให้อยู่นอกวงมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งผู้แต่งยังไม่เริ่มเฉลยความลับหรือคลี่คลายปริศนาที่สร้างไว้ วันหนึ่งอาจจะทำให้ผู้อ่านเบื่อที่จะเป็นเพียงผู้เฝ้าดูอยู่ห่างๆ จนอาจจะเลิกติดตามอ่านต่อก็เป็นไปได้

ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังเห็นว่าผู้แต่งมีความพยายามที่จะคุมบรรยายกาศโดยรวมของเรื่องให้เป็นไปในทางหม่นเศร้า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวเรื่องที่เน้นแนวรักเศร้าๆ นับตั้งแต่เปิดเรื่องภาพด้วยความเจ็บปวดและสูญเสีย อีกทั้งยังสร้างให้ตัวละครส่วนใหญ่ต้องประสบชะตากรรมที่บีบให้พบกับความเศร้าและความผิดหวังจากการสูญเสีย นับตั้งแต่โซราปิย่า ที่ต้องพบความจริงอันน่าผิดหวัง จนผลักดันให้เธอตัดสินใจละทิ้งทั้ง ซิเอโล่ ชายหนุ่มที่เป็นรักแรกของเธอ และหนีจากพวกพ้องอันเปรียบประดุจครอบครัวของเธอ เช่นเดียวกับ ซิเอโล่ ที่เสียใจกับความเย็นชาและเฉยเมยที่โซราปิย่ามอบให้ ทั้งๆที่ตลอดเวลา 5 ปีที่จากกัน เขาเฝ้าคิดถึงเธอและสัญญาสมัยเด็กที่ผูกพันเขาไว้กับเธอตลอดมา หรือ ไอลีน โทรว ที่ถูกรุมประณามและถูกทำร้าย เนื่องมาจากเธอหลงรัก แมทเธียส เกรซาเบอร์ ชายหนุ่มคู่รักของท่านราเน่ ขณะที่ชิคาเล่ หัวหน้ากลุ่มแม่มดของโซราปิย่า ก็ต้องสูญเสียพ่อของเธอไปจากการที่เขาปกป้องและช่วยชีวิตผู้นำของตน และ การ์ชาร์ หญิงสาวที่เปรียบเสมือพี่สาวของโซราปิย่า ที่ต้องอยู่รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง พร้อมกับต้องต้องเผชิญกับคำประณามที่ว่า “เธอเป็นลูกของฆาตกร” การคุมบรรยากาศโดยรวมของเรื่องนับว่าเป็นแนวทางการเขียนประการสำคัญประการหนึ่ง แต่หากผู้แต่งสร้างเรื่องให้มีแต่ความเศร้ามากจนเกินไป ก็อาจจะสร้างความอึดอัดและกดดันให้ผู้อ่านต้องเผชิญกับอารมณ์เดิมๆซ้ำอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังโดยคุมให้อยู่ในความพอดี ไม่ให้มากจนเกินไป

กลวิธีหนึ่งที่ผู้แต่งนำมาช่วยสร้างบรรยากาศความเศร้าก็คือ การบรรยายเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกภายในของตัวละครผู้ประสบชะตากรรมเหล่านั้น ในแง่นี้ ผู้แต่งนับว่ามีความสามารถในการบรรยายในระดับหนึ่ง เพราะถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของตัวละครได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีความระมัดระวังในการเขียนด้วย เพราะจะพบคำผิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ประหัตประหาร เขียนเป็น ประหัดประหาร เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ และ กลิ่นอาย เขียนเป็น กลิ่นไอ

ลักษณะเด่นอีกประการที่พบคือ ผู้แต่งมักจะแทรกข้อคิด คติในการดำเนินชีวิต และมุมมองในการแก้ปัญหาไว้เป็นระยะ ซึ่งสารความคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนและชี้แนะแนวทางให้ตัวละครเท่านั้น แต่แง่มุมความคิดเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตของตนได้ด้วยเช่นกัน ทั้งความคิดเรื่องการตัดสินผู้อื่นว่า “เราก็ไม่ควรใช้ตาของผู้อื่นมามอง แต่ควรที่จะเรียนรู้ตัวตนของคนๆ นั้นด้วยตัวของเราเอง” หรือเรื่องราวของโชคชะตาว่า “บางครั้งเราไม่สามารถที่จะหนีโชคชะตาได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายเราจะต้องเป็นทุกข์ แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากที่เราคิดเองต่างหาก ถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าผ่านพ้นไปได้ เราก็จะพบความสุขที่เราเฝ้าหามาตลอดก็เป็นได้”

ส่วนข้อบกพร่องที่พบคือ การเปลี่ยนฉาก หรือเปลี่ยนเหตุการณ์ บางครั้งผู้แต่งบรรยายเหตุการณ์ต่างกัน 2 เหตุการณ์ต่อเนื่องกันเป็นสถานการณ์เดียว ซึ่งก็สร้างความสับสนให้ผู้อ่านได้ เช่น บทที่ 9 (เปิดม่าน) ในขณะที่โซราปิย่ากำลังรับรู้ถึงสาปสางและลางร้ายเกี่ยวกับผู้บูชาความมืด ผู้แต่งก็นำฉากเหตุการณ์เกี่ยวกับตำนานมาต่อกันไปเป็นเนื้อเดียว ด้วยเหตุนี้กว่าที่ผู้อ่านจะรู้ว่าตำนานที่กำลังอ่านอยู่นั้น ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องผู้บูชาความมืด แต่เป็นเรื่องราวของละครเวทีที่กำลังแสดงอยู่ ก็ต่อเมื่ออ่านมาถึงตอนที่บรรยายว่า “ม่านสีแดงค่อยๆ ปลดลง เสียงปรบมือเริ่มดังขึ้นๆ จนก้องไปทั่วโลกละคร” เช่นเดียวกับในบทที่ 11 (เด็กหนุ่มผมบลอนด์) เพราะขณะที่เรื่องราวกำลังบรรยายถึงความเป็นไปในร้านกาแฟของเจสสิกา อยู่ๆผู้แต่งก็ตัดฉากไปที่การสืบหาผู้เขียนประณามไอลีนอย่างเสียหายไว้ที่หน้าเว็บของชมรมหนังสือพิมพ์ จนดูประหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้นั่งประชุมกันในร้านกาแฟแห่งนี้ ก่อนที่จะเฉลยว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องราวของชมรมหนังสือพิมพ์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดคำนึงของโซราปิย่าเกี่ยวกับการประชุมในช่วงบ่ายที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ผู้วิจารณ์เห็นว่าการแก้ไขในประเด็นนี้ทำได้ไม่ยากนัก เพียงแต่เว้นระยะห่างระหว่างเหตุการณ์ให้ห่างกันมากขึ้น ก็จะช่วยให้ผู้อ่านทราบโดยนัยว่าเรื่องกำลังจะขึ้นเหตุการณ์ใหม่ หรือฉากใหม่แล้ว

-----------------------------
     
 
ใครแต่ง : tongfar
9 ธ.ค. 53
60 %
1 Votes  
#44 REVIEW
 
เห็นด้วย
10
จาก 11 คน 
 
 
บทวิจารณ์ แว่วเสียงสองผืนฟ้า

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 28 ธ.ค. 53
แว่วเสียงผืนฟ้า เป็นนิยายแนวสบายๆคลายเครียดขนาดสั้น 7 ตอนจบ ผลงานของ tongfar เป็นเรื่องราวหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่อยู่ต่างมิติเวลาและสถานที่ แต่ด้วยปาฏิหาริย์ของวันคริสต์มาสจึงทำให้พวกเขามีโอกาสได้มาพบกัน ร่วมผจญภัยฝ่าอันตรายร่วมกัน จนก่อให้เกิดความรักและความผูกพันกันในที่สุด

หากจะถามว่านิยายเรื่องนี้เป็นแนวใด ก็คงยังไม่อาจที่จะระบุได้ชัดเจนนัก เพราะมีทั้งการนำเรื่องราวของความรักข้ามภพมาเป็นโครงเรื่องหลัก ซึ่ง tongfar ฉลาดที่จะเลือกหาสื่อกลางที่เป็นเสมือนประตูมิติที่แปลกออกไปจากนิยายแนวนี้เรื่องอื่นๆ นั่นคือเลือกใช้โทรศัพท์มือถือ และโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงสองโลกที่ต่างกันด้วยภาพและเสียงอย่างที่โทรศัพท์ปัจจุบันทำได้เท่านั้น แต่ยังส่ง “คนตัวเป็นๆ” มาในโทรศัพท์ได้ด้วย จึงนับว่าเป็นจุดเปิดเรื่องที่น่าสนใจ และกระตุ้นให้ผู้อ่านอยากติดตามว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไรได้เป็นอย่างดี

ในด้านหนึ่ง การนำเรื่องราวความรักข้ามภพมาใช้ก็นับเป็นข้อจำกัดด้วย เพราะนิยายแนวนี้มีสูตรสำเร็จเฉพาะด้วยเช่นกัน กล่าวคือผู้อ่านพอจะเดาได้ว่าในตอนจบประตูระหว่างมิตินี้จะต้องปิดลง และตัวละครตัวหนึ่งตัวใดก็จะต้องไปอยู่กับตัวละครอีกตัวหนึ่งในโลกใดโลกหนึ่งตลอดไป และนักเขียนส่วนใหญ่ที่เขียนเรื่องแนวนี้มักจะให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียสละที่จะต้องทิ้งโลกของตัวเองไปอยู่ในโลกของพระเอก แม้ว่าจะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน tongfar ก็เลือกให้ “ระเรรัน” นางเอกสาชาวไทย ต้องไปอยู่ในโลกอันแสนหนาวเย็นของ “รันราเร” พระเอก แต่ tongfar ก็สามารถสร้างความแตกต่างขึ้นได้ ด้วยการนำข้อจำกัดของการสร้างเรื่องเช่นนี้มาสร้างลูกเล่นที่มีสีสันในตอนจบของนิยายเรื่องนี้ไว้ ด้วยการสร้างเรื่องปลายเปิดว่าเครื่องมือที่ใช้ข้ามประตูมิติที่เข้าใจว่าเสียหายจนใช้การไม่ได้แล้วนั้น สามารถจะซ่อมได้จนทำให้ระเรรันสามารถติดต่อกับโลกของตน และมีแนวโน้มว่าในอนาคตเธออาจจะมีโอกาสได้กลับมายังโลกของเธอด้วย

นอกจากนี้ นิยายเรื่องนี้ก็ยังมีกลิ่นอายของนิยายแนวแฟนตาซีผสมอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดาบประจำตัวและพลังวิเศษของรันราเร ที่ทำให้เขาแตกต่างจากมนุษย์ทุกคนบนโลกปัจจุบัน เพราะสามารถต่อยกำแพงจนทะลุเป็นรู และสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วด้วยการกระโดดลอยตัวอยู่ในอากาศ รวมทั้งในตอนท้ายเรื่องยังเปลี่ยนฉากหลักจากเมืองไทยไปเป็นโลกของรันราเร จนทำให้ผู้อ่านกลายเป็นประจักษ์พยานในการต่อสู้ระหว่างผู้มีพลังวิเศษ นั่นก็คือ รันฟรัน (น้องชายของรันราเร) และรันราเร ที่ร่วมต่อสู้และจำกัดเทซาน ศัตรูตัวฉกาจเพียงคนเดียวที่รันราเรพ่ายแพ้ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นเองที่เป็นต้นเหตุให้เขาเดินทางข้ามมิติเวลาจนได้พบกันระเรรัน

นิยายเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งนำเสนอเฉพาะเรื่องราวความรักระหว่างสองโลกเท่านั้น แต่ tongfar กลับใช้ผลกระทบที่เกิดกับรันราเรและระเรรัน เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์และตีแผ่ความเลวร้ายสถาบันหลักในสังคมไทย 2 สถาบัน นั่นคือ ทหาร กับ สื่อมวลชน ว่าสถาบันทั้งสองสามารถที่จะบิดเบือนความจริง เพียงเพื่อสนองความต้องการของตน จนทำให้ผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้ผิดได้ ทหารและสื่อมวลชนในเรื่องนี้ร่วมมือกันบิดเบือนและใส่ร้ายว่าระเรรันและรันราเรว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่มีภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เพียงเพราะรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมต้องการให้รันราเรมาเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายของตน และหลายครั้งที่เขาให้ตัวละครในเรื่องออกมาวิพาษ์สถาบันทั้งสองโดยตรงเลย เช่น รันราเรเคยพูดออกมาตรงๆ เลยว่า “ข้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมโลกของเจ้าถึงวิปริตได้เพียงนี้ ทำไมพวกคนเลวถึงได้กลายเป็นฝ่ายถูกได้ง่ายดายเพียงนี้!!”

ผู้วิจารณ์เห็นว่าความพยายามนำเสนอในประเด็นนี้อย่างมากเกินไปของ tongfar แทนที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักรู้จนอาจเกิดการตั้งคำถามเช่นนี้กับสังคมในโลกแห่งความจริงของตน แต่กลับทำให้ลดความน่าเชื่อถือของแนวคิดดังกล่าวลงไปอย่างน่าเสียดาย เพราะมีบางฉากบางตอนที่ไม่สมเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำและการตัดสินใจในหลายๆ ฉากของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เพราะในความจริงจะพบว่ารัฐมนตรีกลาโหมจะไม่เป็นคนลงมือเองตั้งแต่ต้น แต่ถ้าจะปรากฏตัวก็จะอยู่ในช่วงท้ายเมื่อเรื่องทุกอย่างดำเนินไปจนจบหรือใกล้จบแล้ว แต่ในเรื่องนี้เมื่อเปิดตัวรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้ออกหน้าโทรมาเจรจากับระเรรันเด็กมหาวิทยาลัยคนหนึ่งด้วยตนเองก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว และยิ่งสถานที่ๆ ใช้กักตัวประกันก็ใช้โกดังร้างอีก ทำให้เกิดคำถามขณะที่อ่านว่าคนที่เป็นหัวหน้าในการสั่งการในครั้งนี้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมจริงๆ หรือว่าเป็นเพียงหัวหน้าแก๊งนักเลงข้างถนนเท่านั้น นอกจากนี้ การวางแผนที่จะจับตัวรันราเร ผู้ที่มีพลังวิเศษ คนระดับรัฐมนตรีกลาโหมน่าจะมีการเตรียมการในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี น่าจะนัดพบที่ฐานทัพแห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่ใช้นัดกันที่โกดังร้างที่เดิม จนเปิดโอกาสให้พวกระเรรันซ้อนแผนจนสามารถถ่ายทอดความเลวร้ายของรัฐมนตรีครั้งนี้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้คนทั่วไปรับรู้ รวทั้งคงต้องมีกองกำลังจำนวนมากเพื่อจับกุมรันราเร ไม่ใช่เพียงพาทหารไปไม่กี่นายดังที่ปรากฏในเรื่อง

ในกรณีของสื่อมวลชนนั้นก็พบว่าเหตุผลที่ tongfar นำมาวิพากษ์สื่อมวลชน หลายครั้งก็ยังหลงประเด็นอยู่ โดยเฉพาะการการพยายามเน้นย้ำว่านี่เป็นความผิดของสื่อที่บิดเบือนข่าว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในเรื่องนี้มีนักข่าวเพียงแค่คนเดียวที่เป็นต้นเหตุของเรื่องเหล่านี้ และสาเหตุที่แท้จริงของการบิดเบือนข่าวนั้นอยู่ที่แหล่งข่าวที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างนักข่าวผู้นี้กับรัฐมนตรีกลาโหม ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่หน้าที่แค่ออกข่าวตามเท่านั้น การจะตำหนิสื่อมวลชนในประเด็นนี้น่าจะตำหนิในแง่ที่ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข่าวก่อนที่จะนำเสนอ มากกว่าที่จะตำหนิในแง่ที่ว่าบิดเบือนความจริง และในกรณีของ “นา” ที่ออกมาสารภาพในตอนเกือบจบเรื่องว่า “ตั้งแต่เป็นนักข่าวมา นี่เป็นครั้งแรกที่เธอรู้สึกชิงชังอาชีพของตนเหลือเกิน ที่ต้องยอมให้แก่อำนาจไร้ราคาเหล่านี้” โดยส่วนตัวเห็นว่าคำพูดนี้กินใจและสร้างอารมณ์สะเทือนใจได้ดี แต่ไม่น่าจะอยู่ในเหตุการณ์ตอนนี้ เพราะในฉากนี้นาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเธอทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี และมิได้สยบยอมต่อการใช้อำนาจอย่างผิดๆ นี้ ด้วยการเปิดโปงความเลวร้ายของรัฐมนตรีกลาโหมที่สร้างเหตุการณ์เพื่อใส่ความผู้บริสุทธิ์ ด้วยเหตุนี้ หาก tongfar ยังเสียดายคำพูดคมๆ นี้ ก็อาจย้ายไปไว้ในฉากที่นารู้ความจริงที่ถูกรุ่นพี่นักข่าวหักหลังและทำอะไรไม่ได้จะเหมาะกว่า

นอกจากนี้จะพบว่าความโดดเด่นของนิยายเรื่องนี้มีหลายประเด็นที่น่ากล่าวถึง ประเด็นแรกคือ ตัวละครเอกทั้งสองตัว คือ ระเรรัน กับ รันราเร นั้น tongfar ให้ภาพตัวละครคู่นี้ไว้อย่างชัดเจน ทั้งการบรรยายรูปร่างหน้าตา ขณะเดียวกันบทสนทนาต่างๆ ก็สามารถสะท้อนตัวตนและนิสัยของตัวละครทั้งสองได้เป็นอย่างดี จนผู้อ่านรู้สึกผูกพันกับตัวละคร ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ช่วยสร้างอารมณ์ร่วมของผู้อ่านได้ในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายว่า tongfar ละเลยไม่ใส่ใจกับการบรรยายรูปร่างหน้าตาของตัวละครสำคัญอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ นา และ รัฐมนตรีกลาโหม จึงผู้อ่านจะรู้จักเพียงคร่าวๆมาก จนไม่สามารถที่จะนึกภาพตัวละครเหล่านั้นตามไปด้วยได้ เช่น ในเรื่องบรรยายพ่อของระเรรันไว้เพียงว่า “มองเผินๆ เป็นคนไทย แต่ความจริงเขาเป็นชาวญี่ปุ่นซึ่งลงหลักปักฐานในไทยเป็นระยะเวลานานโข” จึงเห็นว่าควรเพิ่มรายละเอียดในการบรรยายตัวละครอื่นๆ เพิ่มขึ้นก็จะดี

ประการต่อมา คือ การสร้างและคลี่คลายปมปัญหา ในเรื่องนี้ tongfar สร้างปมปัญหาไว้ในหลายตอน ซึ่งปมปัญหาต่างๆ เหล่านี้สร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องได้มาก ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวของรันราเรที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายได้พัฒนากลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติในเวลาต่อมา หรือ ฉากเปิดเรื่องที่รันราเรพ้นจากเงื้อมมือของมัจจุราชมาได้ด้วยการที่เขาข้ามมิติเวลามาพอดี ซึ่งความพ่ายแพ้ในการต่อสู้ครั้งแรกในชีวิตของเขานั้นก็บั่นทอนกำลังใจและกลายเป็นปมค้างใจของเขาอย่างมาก เช่นเดียวกันการหาหนทางที่จะเปิดประตูมิติเพื่อพารันราเรกลับโลกของตน ปมปัญหาต่างๆ เหล่านี้ tongfar สามารถที่จะหาทางออกให้กับปัญหาทุกข้อที่เปิดไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญหาใหญ่สุดที่ต้องแก้ให้รันราเรและระเรรันหลุดพ้นจากการถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายก็ทำได้อย่างดี ด้วยการล้างมลทินให้ทั้งสอง และในช่วงท้ายก็สามารถปิดฉากความวุ่นวายลงได้อย่างสวยงาม ด้วยการให้ตัวตนของทั้งรันราเรและระเรรันสลายกลายเป็นละอองสีฟ้าครามท่ามกลางพยานนับสิบคนและอยู่ในสายตาคนดูนับแสนที่ชมการถ่ายทอดสดผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ประการสุดท้าย คือ การใช้ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทสนทนา ที่ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติและสร้างสีสันให้กับเรื่อง ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นของนิยายเรื่องนี้ก็คงไม่ผิดนัก ทว่าเมื่อเทียบสัดส่วนระหว่างบทบรรยายกับบทสนทนาจะพบว่า ปริมาณของบทสนทนามีมากพอๆกับบทบรรยาย ก็อยากให้ tongfar เพิ่มสัดส่วนของบทบรรยายให้มากขึ้นกว่านี้ ก็จะสร้างสมดุลระหว่างกันได้มากขึ้น เพราะนิยายปกติจะมีจำนวนบทบรรยายมากกว่าบทสนทนาเสมอ

สำหรับข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ ในการเขียนที่พบคือ คำผิดที่มีอยู่ประปราย เช่น บัดดล เขียนเป็น บันดล จราจร เขียนเป็น จารจร สเก็ต เขียนเป็น เสก็ต ขมขื่น เขียนเป็น ข่มขื่น มั้ย เขียนเป็น ไม๊ โบก เขียนเป็น ใบก กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ไสยเวท เขียนเป็น ไสยเวทย์ อิเล็กทรอนิกส์ เขียนเป็น อิเล็กทรอนิกซ์ เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ ตีตรา เขียนเป็น ตรีตรา ฟิล์ม เขียนเป็น ฟิมล์ และ ฮะ หรือ หา เขียนเป็น ห๊ะ และการเลือกใช้คำบางครั้งยังไม่ถูกนัก เช่น หน้าแดงเพราะฤทธิ์ไข้ ส่วนใหญ่มักจะใช้ว่า หน้าแดงเพราะพิษไข้

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่านิยายเรื่องนี้อ่านสนุก น่าสนใจและน่าติดตาม หากปรับแก้ข้อบกพร่องที่พบเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยให้เรื่องสมบูรณ์ขึ้น


---------------------------------

     
 
ใครแต่ง : ฌา / กันตะชา
12 เม.ย. 66
0 %
0 Votes  
#45 REVIEW
 
เห็นด้วย
10
จาก 12 คน 
 
 
บทวิจารณ์ พิษเสน่หา (เงานารี)

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 14 ก.ค. 53
นิยายแฟนตาซีขนาดยาว 48 ตอนจบเรื่อง พิษเสน่หา (เงานารี) ของ ฌา หรือฟัลฌา เรื่องนี้ นับเป็นนิยายเรื่องหนึ่งที่มีความซับซ้อนทั้งในแง่ของตัวเรื่องและอารมณ์ตัวละครกลุ่มหนึ่ง ที่ต่างต้องปิดบังตัวตนและฐานะที่แท้จริงเพื่อความปลอดภัยของตนและพวกพ้อง

นิยายเรื่องนี้ไม่ใช่นิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนเวทมนตร์ หรือเรื่องราวของโลกต่างมิติที่เป็นที่นิยมมากในเว็บไซต์เด็กดี แต่เป็นนิยายไพรัชนิยายแนวแฟนตาซี ที่กล่าวถึงดินแดนสมมุติแห่งหนึ่งชื่อปัญจปุระ ที่ประกอบด้วยแคว้นทั้ง 5 คือ ปามะห์ กูรา ทาลางกูร กรารูวา และบีอา ซึ่งแต่ละแคว้นต่างมีเจ้าหลวงปกครองอย่างเป็นอิสระ ความสงบสุขของดินแดนแห่งนี้เริ่มสูญสลายไป ตั้งแต่ครั้งเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ที่ฑัญญะเจ้าหลวงแห่งทาลางกูร ร่วมมือกับสิงหนาท นายพลแห่งกูรา ยึดอำนาจการปกครองกูราจากเจ้าหลวงฑิคัมพร จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของสายเลือดสีน้ำเงินเชื้อสายเทพแห่งกูรา ณ ปัจจุบัน เมื่อกงล้อประวัติศาสตร์เริ่มย้อนทวน นายพลสิงหนาทกลับมาหลังจากที่ถูกขับไล่ออกไปพร้อมแผนการที่จะยึดครองดินแดนแห่งนี้อีกครั้ง จะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมกับสายเลือดสีน้ำเงินที่ยังหลงเหลืออีกหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอ่านกันต่อไป

ความซับซ้อนของเรื่อง พิษเสน่หา (เงานารี) นับเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของเรื่อง ผู้แต่งวางโครงเรื่องมาเป็นอย่างดี เพราะมีการสอดประสานของโครงเรื่องหลัก (plot) ที่ผูกพันกับชะตากรรมของสิริกัญญา หนึ่งในสายเลือดสีน้ำเงินที่หลงเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็ยังสร้างโครงเรื่อย่อย (sub-plot) จำนวนมากที่ดำเนินไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นความลับ ความหลัง ความผูกพันและเรื่องราวของคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเจ้าหลวงปัฐวิกรณ์ แห่งปามะห์ ท่านจินดา ประธานองคมนตรีแห่งปามะห์ ซึ่งเดิมเคยเป็นที่รู้จักในนาม“จิรัฐจินดา” เจ้าน่านฟ้ามืดผู้กุมศรัทธาทั้งหมดของชาวกูราไว้ และ เจ้าหลวงฑิคัมพร ผู้เป็นพี่ชายของท่านจินดา และสัญญาระหว่างท่านจินดากับแสงสุรีย์ภรรยาหลวงชาวทาลางกูรเพื่อปกป้องสายเลือดสีน้ำเงินที่หลบซ่อนอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องราวชีวิตของกลุ่มตัวละครหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ทั้งชีวิตของบรรดาลูกเมียน้อยของท่านจินดา ไม่ว่าจะเป็น แสงอรุณ รังสิมา ปลายมาศ หรือสิริกัญญา ที่ถูกกดขี่และถูกรังแกทั้งจากแสงสุรีย์ และบรรดาลูกๆของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อรัญญาและวโรดม ความรักระหว่างราเชน ปาเยนทร์ (ผู้กุมอำนาจในปามะห์รองจากเจ้าหลวง) กับ สิริกัญญา หรือ บริมาส (ลูกสาวเสนาบดีมหาดไทยของปามะห์และเป็นเพื่อนสนิทของสิริกัญญา) กับ วิวัสวัต (เจ้าหลวงแห่งกูรา) และความรักต้องห้าม (incest) ระหว่างอรัญญาและวโรดม (ลูกฝาแฝดของท่านจินดา) จะเห็นได้ว่าผู้แต่งสามารถสอดร้อยโครงเรื่องหลักเข้ากับโครงเรื่องย่อยๆจำนวนมากได้อย่างแนบสนิทเป็นเนื้อเดียว

ในอีกด้านหนึ่ง ความซับซ้อนของเนื้อเรื่องเช่นนี้ก็ อาจกลายเป็นจุดอ่อนของเรื่องด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้แต่งมีความปรารถนาดีกับตัวละครทุกตัวที่สร้างขึ้น โดยพยายามกระจายบทให้ตัวละครหลักจำนวนมากมีบทบาทเท่าๆกัน จึงทำให้โครงเรื่องย่อยจำนวนมากต่างได้รับมีความสำคัญเกือบเท่าเทียมกัน ผู้แต่งนำวิธีการดังกล่าวนี้มาใช้กับราเชน ปาเยนทร์ และ สิริกัญญา ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่องด้วยเช่นกัน จึงทำให้บทบาทของพระนางคู่นี้ถูกกลบไปท่ามกลางโครงเรื่องย่อยจำนวนมากนี้ ขณะเดียวกัน ในช่วงท้าย เมื่อผู้แต่งมุ่งเน้นไปยังบทบาทของท่านจินดา ในฐานะที่ท่านเป็นผู้กุมความลับอันเป็นหัวใจของเรื่องไว้ จึงส่งผลให้บทบาทของท่านจินดาได้รับการเน้นจนโดดเด่นกว่าตัวละครทุกตัวในเรื่อง จนดูประหนึ่งว่าท่านจินดากลายเป็นตัวละครเอกของเรื่องไปแล้ว นอกจากนี้ ความซับซ้อนของเรื่องยังส่งผลต่อภาพรวมของเรื่องด้วย กล่าวคือ เมื่อผู้แต่งให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดที่กล่าวถึง จนทำให้เรื่องเยิ่นเย้อ และบางตอนก็มีรายละเอียดมากจนน่าเบื่อ หรือบางเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องเดินเรื่องให้สั้น กระชับ และรวดเร็ว ก็มิอาจทำได้ ขณะเดียวกันเหตุการณ์บางตอนก็ถูกลดความน่าสนใจลง เพราะถูกกลบด้วยรายละเอียดจำนวนมากของเหตุการณ์หรือตัวละครอื่นที่ปรากฏตัวร่วมกันในฉากหรือในตอนเดียวกัน

ความน่าสนใจประการที่สอง คือ ผู้แต่งใช้เรื่องราวความลับของตัวละครมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างให้เรื่องมีความน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตามหารัชทายาทผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการครอบครองบัลลังก์ของกู โดยอาศัยเงื่อนไขว่าบุคคลผู้นั้นต้องเป็นเชื้อสายเทพของชาวสีน้ำเงิน ที่ต้องมีนัยน์ตาสีน้ำเงิน ซึ่งแสดงถึงเชื้อสายของโอรสแห่งสวรรค์ อันเป็นเหตุทำให้เรื่องราวความลับของตัวละครหลายๆตัวที่ผูกพันกับชาวสีน้ำเงินก็ค่อยๆเปิดเผยออกทีละน้อย เมื่อความลับต่างๆคลี่คลายในที่สุด ผู้แต่งกลับหักมุมในตอนจบว่า ตลอดเรื่องที่เฝ้าตามหารัชทายาทเลือดสีน้ำเงิน โดยใช้สีตาเป็นเบาะแสนั้นกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ติดตามไขว้เขวและลงทาง เพราะรัชทายาทผู้ครองอำนาจแห่งราชบัลลังก์กูราที่แท้จริงกลับมิใช่ผู้ที่มีดวงตาสีน้ำเงิน แต่กลายเป็นผู้มีดวงตาสีฟ้าคราม อันเป็นสีดวงตาดั้งเดิมของชาวกูรา ซึ่งหาไม่ได้แล้วในเชื้อพระวงศ์นับตั้งแต่เชื้อสายเทพปกครองกูรา ด้วยเหตนี้ เบาะแสที่ให้ไว้ตั้งแต่ต้นไม่เพียงจะล่อหลอกให้บรรดาตัวละครไขว้เขวเท่านั้น แต่ยังชวนให้ผู้อ่านหลงทางไปกับการหลอกล่อของผู้แต่งไปพร้อมกันด้วย

ผู้แต่งสร้างอาศัยเรื่องราวความลับไว้เป็นเงื่อนไขหลักในการดำเนินเรื่อง และสามารถอธิบายและคลี่คลายเงื่อนปมต่างๆที่ผูกไว้ได้เป็นอย่างดี ทว่าก็ยังมีบางเงื่อนปมที่ผู้แต่งยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนให้แก่ผู้อ่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวระหว่างแสงสุรีย์กับท่านจินดา เพราะจนท้ายที่สุดแล้ว ผู้อ่านก็ยังไม่เข้าใจเหตุผลเบื้องหลังของการกระทำต่างๆที่แสดงสุรีย์ตัดสินใจ ทั้งยังไม่เข้าใจว่าสาเหตุที่เธอแค้นท่านจินดาแท้จริงแล้วนั้นเพราะเหตุใด

ความน่าสนใจประการต่อไปคือ ผู้แต่งนับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียนทั้งบทบรรยายและบทสนทนา ซึ่งส่งผลต่อการสร้างให้เรื่องดำเนินไปอย่างลื่นไหล น่าติดตาม รวมทั้งยังสามารถสร้างตัวละครจำนวนมากให้มีสีสันและลักษณะเด่นเฉพาะตัวได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน และสิ่งที่น่าชื่นชมอีกประการหนึ่งคือ แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเป็นนิยายขนาดยาว แต่แทบจะไม่ปรากฏคำผิดเลย ซึ่งช่วยยืนยันให้เห็นว่าผู้แต่งให้ความสำคัญและใส่ใจเกี่ยวกับความถูกต้องของการเขียนเป็นอย่างมาก

แต่สิ่งที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าเป็นข้อด้อยของนิยายเรื่องนี้คือ การเปิดเรื่อง ผู้แต่งเปิดเรื่องด้วยการแนะนำรัฐทั้งห้าของปัญจปุระ ด้วยการบรรยายถึงลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมถึงอาชีพสำคัญของประชากร ราวกับเป็นตำราเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นการเปิดเรื่องที่น่าเบื่อ “แห้ง” และขาดสีสัน ผู้แต่งควรปรับการเปิดเรื่องให้น่าสนใจและ ดึงดูดใจผู้อ่านมากกว่านี้ อาจเปิดด้วยฉากสุดท้ายของโศกนาฏกรรมชาวสีน้ำเงินก็ได้ นอกจากนี้ เรื่องราวของแคว้นทั้งห้านั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่าเรื่องราวของแคว้นกรารูวาและบีอา แทบไม่ถูกกล่าวถึง จึงเห็นว่าอาจมีคำอธิบายสั้นๆว่า สองแคว้นนั้นแทบไม่มีความสำคัญเพราะเหตุใด ซึ่งน่าจะตรงความเป็นจริง เพราะถ้ามีแต่แคว้นเอกสามแคว้นก็อาจจะไม่ค่อยสมจริงในสถานะของดินแดนใหญ่)

ข้อด้อยอีกประการหนึ่ง คือ ผู้วิจารณ์เห็นว่าชื่อเรื่องยังไม่สามารถที่จะสื่อความครอบคลุมเนื้อหาของเรื่องทั้งหมดได้ แม้ว่าในคำโปรยผู้แต่งจะเน้นเรื่องราวระหว่างสิริกัญญากับราเชน ปาเยนทร์ ที่แสดงให้เห็นถึง “เสน่ห์ของสาวสีน้ำเงินที่ก่อให้ผู้ที่ต้องพิษเสน่หานั้นเกิดอาการทุรนทุราย ปรารถนาอยากครอบครองเธอ ซึ่งเขาต้องตัดสินใจเลือกระหว่างหน้าที่กับหัวใจ ว่าจะพาเธอคืนกลับบัลลังก์หรือเก็บกักเธอไว้ตลอดไป” แต่เรื่องของพิษเสน่หาที่เป็นประดุจคำสำคัญของเรื่อง กลับถูกลดบทบาทลงด้วยเรื่องราวโศกนาฏกรรมของชาวสีน้ำเงินและความลับของท่านจินดา ขณะเดียวกัน พระนางคู่นี้ที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวของ “พิษเสน่หา” ก็กลับถูกคู่ของท่านจินดาและแสงสุรีย์ “ขโมยซีน” ไปต่อหน้าต่อตา เพราะบทบาทของแสงสุรีย์สื่อให้เห็นภาพของเหยื่อที่หลงอยู่ในวังวนของพิษเสน่หาของชาวสีน้ำเงินได้รุนแรงและชัดเจนกว่าที่เกิดขึ้นกับราเชน ปาเยนทร์ มาก เพราะแม้ว่าเจ้าหลวงฑิคัมพรจะสวรรคตไปนานแล้ว แต่พิษเสน่หาที่แฝงอยู่ในใจเธอก็ยังไม่เสื่อมคลาย และยังคงทำให้แสงสุรีย์ทุรนทุรายด้วยเพลิงแห่งความโกรธแค้นที่มีต่อท่านจินดาผู้ทำลายความรักของเธอ จนในท้ายที่สุดการแก้แค้นของเธอก็บีบให้ท่านจินดาต้องเป็นผู้ที่ต้องเลือกระหว่างหน้าที่และหัวใจ และท่านก็เลือกหน้าที่ในฐานะจิรัฐจินดา เจ้าน่านฟ้ามืด ซึ่งต้องเป็นผู้ลงมือประหารแสงสุรีย์ ภรรยาหลวงและนางอันเป็นที่รักของเขาเอง แม้ว่าเขาจะต้องโศกเศร้าเสียใจกับการกระทำนี้เพียงใดก็ตาม ในขณะที่ปาเยนทร์ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นผู้เลือกตั้งแต่แรก กลับไม่ต้องทำหน้าที่นั้น เพราะผู้แต่งเปิดทางอื่นให้เขาได้ครองคู่กับสิริกัญญาอย่างชอบธรรมแทน

ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่างถึงก็คือ การปิดเรื่อง ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้แต่งรีบปิดเรื่องเร็วเกินไป จนดูขัดกับท่วงทำนองการเขียน (style)ทั้งหมดที่ผ่านมา กล่าวคือตลอดมาผู้แต่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งอกตั้งใจที่จะบรรยายเรื่องราวและที่มาที่ไปของตัวละครทุกตัวอย่างละเอียด แต่ในช่วงประมาณ 3-5 บทสุดท้าย ดูเหมือนว่าผู้แต่งจะรีบเขียนเพื่อจบเรื่อง เพราะมีหลายประเด็นที่เป็นการรีบขมวดจบมากเกินไป จนทำให้ความสมบูรณ์ของเรื่องที่ผู้แต่งประคับประคองไว้ได้เป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นเสียไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนท่าทีของแสงสุรีย์อย่างกระทันหัน และท้ายที่สุดก็ออกมาแสดงความรับผิดชอบกับผลของสงครามที่เกิดขึ้นเพียงลำพัง การพยายามจะจับคู่ให้กับตัวละครในเรื่องเกือบทุกตัวด้วยสนธิสัญญาระหว่างสามรัฐ หรือแม้กระทั่งการเปิดเผยว่าแท้ที่จริงแล้วรัชทายาทที่ทุกคนตามหาก็คือปลายมาศ จึงเห็นว่าหากผู้แต่งขยายเรื่องออกไปสัก 1-2 ตอน เพื่อให้เหตุผลที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของแสงสุรีย์ การขยายความเกี่ยวกับสัญญาระหว่างแสงสุรีย์กับท่านจินดาให้ชัดเจนขึ้น เหตุผลที่ท่านจินดายอมประกาศตัวให้ผู้นำของรัฐทั้ง 5 ทราบความลับของตนที่ปกปิดมานานกว่า 50 ปี ว่าแท้จริงแล้วตนเองเป็นใคร หรือแม้กระทั่งการเพิ่มฉากที่ปลายมาศรับรู้ความจริงว่าเขาเป็นใคร ก็จะช่วยให้เรื่องราวสมบูรณ์มาก และไม่ทำให้เกิดความกังขาในตอนจบของเรื่องดังที่เป็นอยู่

---------------------------

     
 
ใครแต่ง : I L L R E I
23 ก.พ. 55
80 %
19 Votes  
#47 REVIEW
 
เห็นด้วย
9
จาก 9 คน 
 
 
หลงกิเลนจันทร์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 15 ธ.ค. 54
หลงกิเลนจันทร์ นวนิยายแนวกำลังภายในขนาดยาว เป็นผลงานเขียนร่วมกันของนักเขียนสองคน คือ ฟารา และ ซีซี ขณะนี้เขียนจบภาค “กำเนิดกิเลนจันทร์” แล้ว และกำลังเขียนภาค “สงครามสามพิภพ” อยู่ ในการวิจารณ์ครั้งนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาค “กำเนิดกิเลนจันทร์” เท่านั้น นวนิยายในภาคนี้กล่าวถึงเรื่องราวของเย่วเทียนหมิง (กิเลนแห่งแสงสว่าง) และเย่วเทียนอ๋าว (กิเลนแห่งความมืด) องค์ชายกิเลนผู้สูงส่ง ผู้ถือกำเนิดขึ้นในวันเดียวกัน และต้องมีชะตาชีวิตที่ผูกพันกับคำทำนายของเทพยากรณ์แห่งพิภพที่ว่า กิเลนจันทร์แห่งหยิน
หยางคู่นี้จักก่อการทำลายที่ล่มสลายสวรรค์ จึงทำให้ชีวิตของเด็กน้อยทั้งคู่ถูกจับตามมองทั้งจากพิภพเทพ มาร และมนุษย์ รวมไปถึงสี่ราชันย์สวรรค์คือ กิเลน มังกร เต่า และหงส์ด้วย

นวนิยายเรื่องนี้ประกอบด้วยโครงเรื่องหลัก (plot) อันเป็นเรื่องราวโดยรวมที่ครอบคลุมเรื่อง “หลงกิเลนจันทร์” ซึ่ง ฟารา และ ซีซี ใช้คำทำนายของเทพพยากรณ์แห่งพิภพเป็นตัวควบคุมให้เรื่องดำเนินไปตามโครงเรื่องหลักที่วางไว้ ขณะเดียวกันก็ยังมีโครงเรื่องย่อย (sub-plot) เฉพาะของภาคนี้จำนวนมากที่แทรกเข้าว่านับตั้งแต่เรื่องราวของการกำเนิดและเติบโตของสองกิเลนจันทร์ และยังมีเรื่องราวภูมิหลังของตัวละครหลักอื่นๆ ของเรื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ เฮ่อเหลียนหย่งเล่อ ราชันย์เร้นกาย จักรพรรดิแห่งพิภพเทพ เฟิ่งหลันกุ้ยฟง ราชินีแห่งพิภพมาร จูเก่อเฟยเสวียน มหาบัญฑิตเจ้าสำราญ จักรพรรดิแห่งพิภพมนุษย์ หรือแม้แต่เรื่องราวความขัดแย้งในครอบครัวระหว่างพี่น้อง หลงซ๊วงวู๋ (องค์ชายห้า) กับหลงฟงหลาน องค์ชายเก้าและเป็นรัชทายาทแห่งราชวงศ์มังกร ในเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ฟารา และ ซีซี วางแผนการเขียนโดยวางลำดับของเรื่องก่อนจะเขียนไว้เป็นอย่างดี จึงสามารถที่จะผสานโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยจำนวนมากเหล่านี้เข้ากันได้อย่างแนบสนิทเป็นเนื้อเดียว

ทั้งนี้ คำทำนายของเทพพยากรณ์แห่งพิภพ ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นโครงเรื่องหลักเท่านั้น แต่ปริศนาต่างๆ ที่ซ่อนไว้นำคำทำนายยังช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจที่อยากติตตามเรื่องราวเหล่านี้ด้วย จึงเห็นว่า ฟารา และ ซีซี ฉลาดที่เริ่มเรื่องด้วยคำทำนายที่ว่า

“สามจักรพรรดิ สี่ราชันย์สวรรค์ ยี่สิบเอ็ดเทพพิทักษ์
กิเลนจันทร์แห่งหยินและหยาง กิเลนจันทร์แห่งแสงสว่างและความมืด
จักก่อการทำลายที่ล่มสลายสวรรค์
เปลี่ยนผู้สมถะซ่อนตนให้ละโมบลุ่มหลง เปลี่ยนผู้กล้าเปี่ยมปัญญาให้ขลาดเขลา
เปลี่ยนวิญญาณพิสุทธิ์ให้โหดเหี้ยมอำมหิต
วงล้อชะตากรรมแห่งพรหมลิขิตจักวนเวียนมาอีกครั้ง”

โดยส่วนตัวเมื่ออ่านคำทำนายนี้จบลงทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นหลายประการ นับตั้งแต่ สามจักรพรรดิ สี่ราชันย์สวรรค์ และยี่สิบเอ็ดเทพพิทักษ์ เป็นใครและมีความสำคัญกับเรื่องอย่างไร กิเลนจันทร์แห่งหยินหยางคือใครและมีความสามารถใดที่จะล่มสลายสวรรค์ ผู้สมถะที่จะถูกเปลี่ยนให้เป็นผู้ละโมภและหลุ่มหลง ผู้กล้าที่เปี่ยมปัญญาที่ถูกเปลี่ยนให้ขลาดเขลา รวมถึงผู้ที่มีวิญญาณพิสุทธิ์ที่ถูกเปลี่ยนให้โหดเหี้ยมอำมหิตคือใคร และอย่างไร ซึ่งในตอน “กำเนิดกิเลน” ปริศนาบางส่วนจากคำทำนายก็ได้เริ่มทยอยเปิดเผยไปบ้างแล้ว

นอกจากปริศนาที่เกิดจากคำทำนายแล้ว ฟารา และ ซีซี ยังทิ้งเงื่อนงำบางอย่างในเรื่องไว้เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นชายลึกลับสองคนที่แอบไปชมการกำเนิดของกิเลนจันทร์และทราบคำทำนายดังกล่าว ซึ่งบุคคลปริศนาคู่นี้ก็ปรากฏตัวในเรื่องอยู่เป็นระยะ โดยที่ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นใครและมีความสำคัญต่อเรื่องอย่างไร หรือความสำคัญของกระจกเสี้ยวจันทร์ที่ เย่วหรงเต๋อ ราชันย์กิเลนปฐพี พ่อของกิเลนจันทร์ทั้งสองมอบหมายให้หลิวอันจิ้ง เทพพิทักษ์เงาของตนออกตามหาเศษเสี้ยวแห่งดวงจันทร์นับตั้งแต่ทราบคำทำนาย หรือ กำไลฉิงฉีที่เป็นสร้อยประคำสีดำที่ข้อมือของเย่วเทียนอ๋าว ที่ได้จากการดึงพลังสีดำหรือพลังหยินของฉงฉี ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อสูรแห่งบรรพกา ก้อนพลังหยินเข้มข้นดังกล่าวที่ดึงออกมาจากอกของเทียนอ๋าวนี้จะผลต่อการกระทำและการตัดสินใจของเทียนอ๋าวต่อไปในอนาคตอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น ฟารา และ ซีซี ยังทิ้งประเด็นที่ชวนติดตามเพื่อเชื่อมต่อไปยังภาคต่อไปคือ “สงครามสามพิภพ” ไว้ด้วย ไม่ว่าจะทิ้งท้ายภาคนี้ด้วยการจุดไฟแห่งการต่อสู้ไว้ให้กับสองกิเลนจันทร์ ซึ่งพวกเขาต่างให้สัญญากับตนเองว่าจะต้องแข็งแกร่งมากกว่านี้เพื่อที่จะปกป้องคนคนสำคัญของพวกเขาไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นความสนใจของ เฮ่อเหลียนหย่งเล่อ ราชันย์เร้นกาย ผู้เมินเฉยต่อโลก กลับให้ความสนใจและอยากได้พลังหยินหยางของกิเลนจันทร์อย่างมาก รวมทั้งยังเพิ่มเรื่องราวการต่อสู้ที่เริ่มตึงเครียดขึ้นที่ทะเลทรายต้องห้ามอันเป็นเขตชายแดนระหว่างพิภพเทพและพิภพมาร นี่อาจจะเป็นฉนวนของสงครามสามพิภพก็เป็นได้

หลงกิเลนจันทร์ นับเป็นนวนิยายที่มีตัวละครเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะแค่คำทำนายจะพบว่าจะต้องมีตัวละครสำคัญอย่างน้อยที่สุด 30 ตัว ซึ่งในภาค “กำเนิดกิเลน” ก็เปิดตัวละครเกือบครบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสามจักรพรรดิแห่งพิภพเทพ พิภพมาร และพิภพมนุษย์ สี่ราชันย์สวรรค์ของสัตว์เทพทั้งสี่ เย่วหรงเต๋อ (ราชวงศ์กิเลน) หลงหวางไห่ (ราชวงศ์มังกร) หยวนจุนซวนหวู่ (ราชวงศ์เต่าดำ) และหลวนจูเฉว (ราชวงศ์หงส์ทอง) และ ยี่สิบเอ็ดเทพผู้พิทักษ์ ซึ่งจักรพรรดิและราชันย์แต่ละองค์จะมีสามเทพผู้พิทักษ์ประจำตัว คือ เทพพิทักษ์สงคราม เทพพิทักษ์ปัญญา และเทพพิทักษ์เงา นอกจากนี้ยังมีเย่วเทียนหมิง และเย่วเทียนอ๋าว สองพี่น้องกิเลนจันทร์ แม้ว่าตัวละครในเรื่องจะมีเป็นจำนวนมาก แต่ผู้อ่านก็ไม่รู้สึกสับสน เนื่องจาก ฟารา และ ซีซี ค่อยๆ เปิดตัวละครออกมาเป็นชุดๆ ละไม่กี่ตัวเพื่อบอกเล่าเรื่องราวภูมิหลังของตัวละครเหล่านั้น จนสามารถสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้อ่านในระดับหนึ่ง กล่าวคือได้รู้จักหน้าตา เรียนรู้เรื่องราวและอุปนิสัยใจคอของตัวละครเหล่านั้น จากนั้นจึงค่อยเปิดตัวละครตัวอื่นๆ ต่อไป ขณะเดียวกันตัวละครแต่ละตัวต่างก็มีบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตน ซึ่งง่ายต่อการจดจำ เช่น เย่วเทียนหมิง กิเลนจันทร์แห่งแสงสว่าง ผู้มีผมสีเงิน ตาสีเงิน และผิวขาวบริสุทธิ์ ผู้อ่อนโยน ใจดี อบอุ่น บริสุทธิ์ สุขุมรอบคอบ รักครอบครัว เย่วเทียนอ๋าว กิเลนจันทร์แห่งความมืด ผู้มีผมดำ ตามดำ และผิวขาว ใจดำ เจ้าเล่ห์ โหดเหี้ยม ชอบใช้กำลัง แต่รักและใจดีเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น

เสน่ห์อีกประการของนิยายเรื่องนี้คือความพิถีพิถันและความละเมียดของการเลือกใช้ภาษา นับตั้งแต่ภาษาบรรยาย ซึ่งฟารา และ ซีซี จะให้รายละเอียดกับสิ่งต่างๆ ที่บรรยายถึง ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายรูปร่างหน้าตา อุปนิสัยใจคอ หรือแม้แต่การบรรยายฉากและบรรยากาศต่างๆ ก็ทำได้เป็นอย่างดี จนช่วยให้ผู้อ่านสามารถสร้างจินตภาพตามที่ผู้เขียนบรรยายได้ไม่ยากนัก ส่วนภาษาสนทนานั้น ผู้เขียนก็เลือกใช้ระดับภาษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยเสริมให้ผู้อ่านรู้จักและเรียนรู้อุปนิสัยใจคอของตัวละครผ่านบทสนทนาได้อีกทางหนึ่ง เช่น ความใจร้อนและโหดเหี้ยมของเทียนอ๋าว หรือ ความสุขุมและใจดีของเทียนหมิงก็สะท้อนผ่านบทสนทนาด้วยเช่นกัน

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ายังพบคำที่สะกดผิดอยู่บ้างในเรื่อง เช่น ภูต (หมายถึง ผี
อนมุษย์ เทวดา สัตว์) เขียนเป็น ภูติ (หมายถึง ความรุ่งเรือง ความมั่นคง) กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เบญจธาตุ เขียนเป็น เบจญธาตุ กระตือรือร้น เขียนเป็น กระตือรือล้น ฤๅ เขียนเป็น ฤา น้ำตาไหล เขียนเป็น น้ำตาใหล หลับใหล เขียนเป็น หลับไหล ณ เขียนเป็น ณ. เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์ กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ องค์ความรู้ เขียนเป็น องก์ความรู้ คำนวณ เขียนเป็น คำนวน อาณัติ เขียนเป็น อานัติ สถิต เขียนเป็น สถิตย์ ราชันย์ เขียนเป็น ราชัน กลับตาลปัตร เขียนเป็น กลับตารปัต ซึ่งคำผิดเหล่านี้ลดทอนความสมบูรณ์ของเรื่องไปอย่างน่าเสียดาย หากผู้เขียนปรับแก้คำผิดเหล่านี้ได้ทั้งหมดก็จะช่วยให้เรื่องนี้สมบูรณ์และน่าอ่านยิ่งขึ้น

-------------------------
     
 
ชื่อเรื่อง :  Bloody Day
ใครแต่ง : wondermomo / MissSuika
30 เม.ย. 65
80 %
10 Votes  
#48 REVIEW
 
เห็นด้วย
9
จาก 9 คน 
 
 
วิจารณ์นิยาย Bloody day

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 28 ก.พ. 56
Bloody Day นิยายแนวหวานแหวว ผลงานของ Wondermomo ซึ่งขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 18 แล้ว เป็นเรื่องราวของอลิซ นักศึกษาสาวจอมเก็บตัววัย 20 ปีที่ชีวิตของเธอเปลี่ยนไป เมื่อเธอต้องมาใช้ชีวิตอยู่ระหว่าง โลแกน แวมไพร์หนุ่มที่ติดใจในตัวเธอจนไม่อาจจะปล่อยเธอไปได้อีกแล้ว กับเรย์ เพื่อนบ้านคนใหม่จอมเอาแต่ใจ ซึ่งแท้ที่จริงเป็นนักล่าแวมไพร์ ที่จะต้องมาคอยดูแลปกป้องเธอจากแวมไพร์หนุ่ม เรื่องวุ่นๆ จึงเกิดขึ้น

ความน่าติดตามของนิยายเองนี้อยู่ที่ผู้อ่านไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากว่า Wondermomo มักจะเปลี่ยนทิศทางของเรื่องอยู่เสมอ โดยใช้หลายกลวิธีทั้งการเปิดปริศนา หรือเปิดเผยความลับหรือเรื่องราวในอดีตของตัวละครเพิ่มขึ้นเสมอๆ เช่น ความแค้นที่เรย์มีต่อเจมส์ น้าชายของตน เพราะเขาลงมือฆ่าแอนเดรียหญิงสาวที่เรย์รัก แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นน้องสาวแท้ๆ ของเจมส์ก็ตาม การเปิดเผยว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ส่งผลให้พ่อและแม่ของอลิซเสียชีวิต และทำให้อลิซสูญเสียความทรงจำคือผู้หญิงลึกลับคนหนึ่งที่กำลังจะพยายามจะลักพาตัวอลิซไปขณะที่เธออายุ 20 ปีหรือในอีก 13 ปีต่อมา หรือการเปิดตัวอลิซาเบธ ผู้หญิงในฝันของอลิซ ซึ่งเป็นเจ้าของสร้อยคริสตัลสีน้ำเงิน เพื่อให้ผู้อ่านติดตามต่อไปว่า แท้ที่จริงแล้วเธอผู้นี้มีความผูกพันกับอลิซ
อย่างไร และคริสตัลสีน้ำเงินจะเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องหรือไม่ Wondermomo ยังทวีความน่าติดตามเรื่องด้วยการสร้างตัวละครในลักษณะคู่ตรงข้ามหรือคู่ปรปักษ์ใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ เช่น การเปิดตัวโลแกนนักร้องหนุ่มว่าเป็นแวมไพร์ จากนั้นไม่นานก็เปิดเผยว่าเรย์คือนักล่าแวมไพร์ ทั้งสองนับเป็นศัตรูคู่อาฆาตทางเผ่าพันธุ์กันมาเนิ่นนานนับแต่ยุคบรรพบุรุษ และยังมีหญิงลึกลับที่แสดงตัวเป็นคู่ปรปักษ์กับทั้งโลแกนและเรย์ เพราะเธอพยายามจะลักพาตัวอลิซไป ทำให้คู่อาฆาตทั้งสองต้องยอมสงบศึกกันชั่วคราว และผนึกกำลังกันร่วมมือกันช่วยเหลืออลิซจากสาวลึกลับคนนี้ก่อนที่จะกลับมาต่อสู้กันเองต่อไป

กลวิธีการสร้างความน่าสนใจด้วยวิธีการเช่นนี้นับว่าประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกใคร่รู้และติดตามเรื่องอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ทราบว่าเรื่องจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป แต่ขณะเดียวกันการใช้กลวิธีเช่นนี้ก็มีข้อพึงระวังด้วยเช่นกัน หากผู้เขียนสนุกที่จะเปิดปริศนา ความลับ เรื่องราวในอดีต หรือ ตัวละคร ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยไม่เฉลยหรือคลี่คลายปมปริศนาต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมกันด้วย เรื่องราวก็จะเต็มไปด้วยปมปัญหาที่ไม่มีทางออก ท้ายที่สุดก็จะสร้างแต่ความฉงน งุนงง และคำถามที่ค้างคาใจคนอ่านแต่เพียงอย่างเดียว ในนิยายเรื่องนี้ก็เริ่มจะส่อเค้าว่าจะเป็นไปในทิศทางนี้เช่นกัน เพราะตลอด 18 ตอนที่อ่านมาพบแต่การสร้างปม แต่ Wondermomo ยังไม่เริ่มคลี่คลายปมต่างๆ เหล่านี้เลย จึงทำให้เกิดคำถามขณะอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ เหตุใดครอบครัวของอลิซจึงกลายเป็นเป้าหมายของหญิงลึกลับ และมีแต่อลิซเท่านั้นที่รอดตาย เหตุใดผู้หญิงลึกลับจึงเพิ่งจะออกตามตัวอลิซ ทั้งๆ ที่เรื่องราวผ่านมาเกือบ 13 ปีแล้ว เหตุใดเลือดของอลิซจึงมีผลกับโลแกนเท่านั้น แต่ไม่มีผลกับแวมไพร์ตนอื่น เช่น โรซารีน เหตุใดโรซารีนจึงกล่าวว่าอลิซจะกลายเป็นผู้นำความยุ่งยากมาให้แวมไพร์ต้องเดือนร้อน ผู้หญิงลึกลับที่มาลักตัวอลิซเป็นใคร และเผ่าพันธุ์ใด เหตุใดเธอจึงมีความสามารถเทียบเท่าแวมไพร์ ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้เป็นแวมไพร์ เชสเตอร์ (เพื่อนร่วมมหาวทิยาลัยของอลิซ) ทราบได้อย่างไรว่าอลิซต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับอลิซาเบธ และเหตุใดจึงมอบกุญแจห้องที่เก็บข้อมูลสำคัญของเมืองให้อลิซอย่างง่ายดาย หรือ คริสตัลมีผลต่อแวมไพร์อย่างไร ทั้งนี้ต้องติดตามต่อไปว่า Wondermomo จะคลี่คลายปมที่สร้างขึ้นได้ครบทุกปมหรือไม่ และจะใช้วิธีการใดในการคลี่คลาย

จุดเด่นอีกประการหนึ่งในเรื่อง คือ การเขียน Wondermomo มีความสามารถในการเขียนบทบรรยาย ทั้งการบรรยายและบทพรรณนาบุคลิกลักษณะของตัวละคร บรรยากาศ ฉาก และความรู้สึกภายในของตัวละครได้อย่างละเอียด ช่วยสร้างจินตนาการให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็เสริมด้วยบทสนทนาที่ช่วยสร้างลักษณะเฉพาะของตัวละครแต่ละตัวให้โดดเด่นชัดเจนขึ้น จนผู้อ่านสามารถจดจำได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเรื่องยังปรากฏคำผิดอยู่ประปราย จึงลดทอนความถูกต้องสมบูรณ์ของเรื่องลงไป เช่น น้ำตาลเข้ม เขียนเป็น น้ำตาเข้ม เว็บไซต์ เขียนเป็น เว็บไซด์ ขย้ำ เขียนเป็น ขย่ำ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ เลิ่กลั่ก เขียนเป็น เลิกลัก นัยน์ตา เขียนเป็น นัยต์ตา เทใจ เขียนเป็น เท่ใจ อัฒจันทร์ เขียนเป็น อัฒจรรย์ ฝนพรำ เขียนเป็น ฝนพร่ำ สะเหล่อ เขียนเป็น เสร่อ ฮะ หรือ หา เขียนเป็น ห๊ะ นิ หรือ นี่ เขียนเป็น หนิ ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ เซ็นชื่อ เขียนเป็น เซนต์ชื่อ นอกจากสะกดคำผิดแล้วยังมีการใช้คำผิดความหมายอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ลักษณะนามของกำไล ใช้ว่า วง ไม่ใช่ เส้น หญิงสาวถอดริมฝีปากบางสวยลงไปซุกซนที่ซอกคอของชายหนุ่ม ควรใช้คำว่า หญิงสาวเคลื่อนริมฝีปากบางสวยลงไปซุกซนที่ซอกคอของชายหนุ่ม หลังจากฟื้นความตาย ควรใช้คำว่า หลังจากฟื้นจากความตาย ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ในส่วนท้ายบ้าน ควรใช้คำว่า ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่หลังบ้าน ย้ายมือไปสัมผัส ควรใช้คำว่า เลื่อนมือไปสัมผัส

แม้ว่าเรื่องนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับแวมไพร์ และ Wondermomo ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแวมไพร์ไว้จำนวนหนึ่งแล้ว ทั้งในแง่ของประวัติความเป็นมา และลักษณะพื้นฐาน รวมทั้งความสามารถที่เหนือมนุษย์ของแวมไพร์เหล่านี้ แต่เมื่ออ่านเรื่องไปเรื่อยๆ จะพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับแวมไพร์ที่ให้ไว้กลับดูเหมือนว่าจะเป็นข้อมูลเฉพาะของโลแกนเท่านั้น เนื่องจากบางครั้งข้อมูลดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะนำไปใช้กับแวมไพร์ตนอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบความสามารถระหว่างโลแกนและโรซารีนก็พบว่ามีต่างกัน หรือผลกระทบของแวมไพร์แต่ละคนที่มีต่อมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน เช่น เหตุใดแอนเดรียและอลิซ เมื่อถูกแวมไพร์กัด พวกเธอมีลายสีดำที่คอเป็นสัญลักษณ์ของการจับจอง แต่แมคที่ถูกโรซารีนกัดกลับไม่มีรอยดังกล่าว อีกทั้งบางครั้งข้อมูลที่ปรากฏในเรื่องก็ดูขัดกันเอง สับสนและไม่สมเหตุสมผล เช่น เหตุใดโลแกนจึงฆ่าแวมไพร์เผ่าพันธุ์เดียวกับเขาอย่างไม่ลังเลในขณะที่ต้องการช่วยเรย์ ทั้งๆ ที่ในตอนต้นเรื่องมีการกล่าวไว้ว่าเผ่าพันธุ์แวมไพร์มีอยู่จำนวนน้อย เพราะพวกเขาไม่สามารถสืบพันธุ์กันเองได้ หรือการที่คริสตัลเป็นเครื่องช่วยป้องกันแวมไพร์ไม่ให้เข้ามาใกล้มนุษย์ได้ เหตุใดโรซารีนซึ่งเป็นแวมไพร์จึงชอบสะสมคริสตัล ทั้งๆ ที่เธอไม่น่าที่จะเข้าใกล้คริสตัลได้ หรือโลแกนสามารถมอบคริสตัลเป็นรางวัลให้กับโรซารีนได้ แต่เมื่อเรย์นำคริสตัลไปไว้ที่หน้าต่างบ้านอลิซกลับสามารถป้องกันไม่ให้โลแกนกล้าเข้าไปในบ้านของเธอได้ จึงเสนอว่า Wondermomo น่าจะทบทวนในประเด็นเหล่านี้อีกครั้ง และควรจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ นี้อย่างชัดเจนมากขึ้น ก็จะช่วยลดความสับสนของผู้อ่านได้

---------------------------
     
 
ใครแต่ง : Chocolate Witch
3 พ.ย. 58
100 %
1 Votes  
#49 REVIEW
 
เห็นด้วย
9
จาก 9 คน 
 
 
วิจารณ์ Evil Demon Café พนักงานร้านนี้มีแต่ปีศาจ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 19 มี.ค. 56

นิยายเรื่อง Evil Demon Café พนักงานร้านนี้มีแต่ปิศาจ ของ N.S. Bloody นั้น ผู้เขียนได้ระบุว่าจะมีทั้งหมด 4 ภาค ซึ่งมีการดำเนินเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ในปัจจุบันผู้เขียนยังแต่งภาคแรกที่มีชื่อภาคว่า “บุรุษปริศนากับงานใหม่” ได้เพียง 14 ตอน จึงวิจารณ์ได้เฉพาะที่โพสต์ภาคแรกเท่านั้น

ร้าน Evil Demon Café เป็นร้านที่เหมือนกับชื่อ คือมีพนักงานที่เป็นปิศาจ และลูกค้าที่เป็นมนุษย์บ้างปิศาจบ้าง อยู่ในโลกที่มนุษย์ยอมรับว่าปิศาจมีตัวตน อีกทั้งยังมีตลาดซื้อขายเนื้อและเลือดมนุษย์ สำหรับให้ปิศาจบริโภคกันอย่างถูกกฎหมายอีกด้วย (เนื้อมนุษย์ที่ซื้อขายกันเป็นของนักโทษประหาร จึงขอตั้งข้อสังเกตว่ามนุษย์ในเรื่องนี้คงจะทำผิดจนต้องประหารกันมากทีเดียว จึงมีเนื้อเพียงพอที่จะนำมาขายเป็นตลาดให้กับปิศาจได้)

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของนิยายเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องซีเรียส หรือเป็นนิยายแอ็คชั่น หรือสยองขวัญที่ต้องลุ้นระทึก แต่กลับเป็นเรื่องราวอลเวงภายในร้านกาแฟปิศาจที่ประกอบด้วยสมาชิกสุดเพี้ยน 6 คน ได้แก่ มิเนอร์ว่า แม่มดผู้จัดการร้านหน้าเงิน เธอควบตำแหน่งแม่ครัวด้วย แต่กลับทำกับข้าวไม่เป็นถ้าไม่ได้ใช้เวทมนตร์ เอส ผีหัวขาดวัยเด็กจอมซุ่มซ่าม ที่มักจะทำจานแตกและทำหัวของตัวเองหล่นอยู่เสมอ อากิระ ภูติน้ำแข็งผู้งดงาม เมื่อแต่งชุดประจำเผ่ายิ่งดูงดงามมากขึ้น แต่ติดที่ว่าเขาเป็นผู้ชายและยังเป็นจอมเจ้าชู้ วิกเตอร์ แวมไพร์ผู้ขยาดเพศหญิง ไม่ชอบแสง แต่หากอยู่ในที่ร่มจะชอบใส่เสื้อชายหาด โฮรุส มัมมี่หนุ่มผู้ทรงภูมิและไม่(ค่อย)พูดจา แต่จะสื่อสารทางสีหน้าและอักษรทราย และสมาชิกใหม่ เซซิล บุรุษปริศนา ผู้ต้องกลายเป็นพนักงานร้านนี้ เพราะทำถ้วยกาแฟของผู้จัดการร้านแตก

ผู้เขียนบรรยายลักษณะของตัวละครแต่ละตัวได้ชัดเจนทั้งรูปร่างหน้าตา ความสามารถ และนิสัย ทำให้ผู้เขียนสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างความบันเทิงให้กับเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี เช่น ปัญหาเรื่องการล้างจานที่น่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กลับเป็นปัญหาใหญ่ของร้านนี้ เพราะมัมมี่มีร่างกายเป็นทรายจึงล้างจานไม่ได้ ภูติน้ำแข็งเมื่อถูกน้ำ น้ำก็จะกลายเป็นน้ำแข็ง จึงล้างจานไม่ได้ ผีหัวขาดก็แสนจะซุ่มซ่าม ถ้าให้ล้างจาน จานก็คงจะแตกแน่ๆ ส่วนผู้จัดการ เธอไม่ลดตัวลงมาล้างจานแน่นอน เซซิลผู้มาใหม่ ก็ยังล้างจานไม่เป็น หน้าที่ล้างจานจึงตกเป็นของวิกเตอร์แต่เพียงผู้เดียว เมื่อมีปัญหาทำให้เขาต้องหายตัวไป การล้างจานจึงเป็นปัญหาใหญ่ของที่ร้าน ซึ่งก็สร้างความขบขันให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

นิสัยของตัวละครก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้นิยายเรื่องนี้สนุก ไม่ว่าจะเป็นวิกเตอร์กับอากิระ คู่หูเพื่อนสนิทแต่นิสัยต่างกันอย่างสุดขั้ว ที่เห็นชัดที่สุดคืออากิระเป็นจอมเจ้าชู้ แต่วิกเกอร์กลับเกลียดผู้หญิง เมื่อไปเที่ยวด้วยกัน วิกเตอร์จึงถูกลากไปอย่างไม่เต็มใจทุกครั้ง แต่เขาก็ต้องคอยช่วยเหลือเพื่อนที่หน้าตาสวยจนมีผู้ชายมารุมจีบทุกครั้งด้วยเช่นกัน บรรยากาศเช่นนี้จึงสร้างความเฮฮาและรู้สึกว่าตัวละครมีชีวิตขึ้นได้

เอส ผีหัวขาด ถึงแม้เขาจะซุ่มซ่าม หกล้ม จนมักจะทำจาน เครื่องดื่ม และหัวของตัวเอง ตกอยู่เสมอ ซึ่งก็สร้างความขบขันได้พอสมควรแล้ว แต่ตัวละครนี้ยังสร้างความสนุกสนานได้มากขึ้นอีกเมื่อเอสไม่ได้เป็นแค่เด็กซุ่มซ่าม แต่เขายังต่อปากต่อคำเก่ง เพราะท่าทีที่ดูบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนเด็กๆ ถึงแม้จะพูดเรื่องที่ดูเหลือเชื่อ แต่เอสก็สามารถพูดจนพวกตัวเอกรอดจากการสอบสวนของตำรวจมาได้ ทั้งนี้ก็มีข้อเสียกับตัวละครอื่นๆ อยู่บ้าง เมื่อเอสนำความสามารถด้านการพูดมาใช้เถียงกับเซซิลหรือคนอื่นๆ แต่สำหรับผู้อ่านแล้ว ย่อมได้แต่ความสนุกสนานที่ได้อ่านลีลาของเด็กอายุมากคนนี้แน่นอน

นอกจากนี้ยังมีโฮรุสผู้ไม่ค่อยพูดจา และก็ไม่ค่อยมีใครในร้านพูดกับเขา มีเพียงมิเนอร์วาที่สื่อสารได้รู้เรื่อง แต่โฮรุสก็มีงานอดิเรกที่ตรงข้ามกับบุคลิกคือชอบซื้อวิกผม ส่วนมิเนอร์วาเองถึงแม้จะเป็นแม่มดปากร้ายและเห็นแก่เงิน แต่เธอก็เป็นหัวหน้าที่เป็นห่วงสวัสดิภาพของลูกน้องทั้งห้าอยู่เสมอ ซึ่งแสดงออกด้วยการพยายามช่วยเหลือวิกเตอร์ที่ถูกปิศาจเข้าสิง นอกจากนี้เธอยังมีมุมขำๆ เพราะเมื่อเธอใช้เวทมนตร์ไม่ได้ จะทำอะไรไม่เป็นเลย

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นว่า ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นตัวละครในหลายด้าน ซึ่งทำให้ตัวละครดูมีความสมจริงมากขึ้น และทำให้อ่านได้สนุกขึ้นเมื่อพบด้านที่ตรงกันข้ามกับบุคลิกที่ตัวละครแสดงออกให้คนภายนอกเห็น จะมีก็เพียง เซซิล ซึ่งผู้เขียนยังตั้งใจปกปิดข้อมูลของตัวละครนี้เพื่อให้ผู้อ่านสนใจว่าเซซิลเป็นปิศาจแบบไหนกันแน่ มีเรื่องราวอะไรที่ทำให้เขาต้องหนีออกจากบ้านมาเป็นพนักงานที่ร้านนี้ และเขาจะมีมุม “รั่วๆ” เช่นเดียวกับเพื่อนๆ หรือไม่ เพราะเท่าที่อ่านมาทราบเพียงว่า เซซิลเป็นปิศาจที่อายุยืนยาวมาก และมีอาวุธจำนวนมากที่ต้องพกพาไปต่อสู้ ส่วนนิสัยคือมีความอยากรู้อยากเห็นมาก ถ้ามีอะไรที่เซซิลเห็นว่า “น่าสนใจ” เขาจะต้องเอาตัวเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในร้านกาแฟที่เต็มไปด้วยปิศาจ หรือการต่อสู้กับวิกเตอร์ แวมไพร์ที่ถูกปิศาจเข้าสิง

นอกจากนี้ ความสามารถของปิศาจทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องที่แตกต่างกัน ได้แก่ เซซิลใช้อาวุธได้เป็นจำนวนมาก ใช้เวทมนตร์ได้บางอย่าง และมีความเร็วสูง วิกเตอร์มีความเร็วและพละกำลังมาก โฮรุสแปลงร่างเป็นทราย เคลื่อนที่เข้าไปในที่แคบได้ เอสสามารถใช้เส้นเอ็นในการบังคับสิ่งต่างๆ อากิระสามารถใช้พลังน้ำแข็ง และมิเนอร์วาสามารถใช้เวทมนตร์ของแม่มด จึงน่าสนใจว่าหากปิศาจเหล่านี้ได้ใช้ความสามารถของตนเข้าต่อสู้กัน ซึ่งในภาคแรกนี้มีการต่อสู้ให้เห็นชัดเจนไปแล้วหนึ่งคู่ คือการต่อสู้ระหว่างวิกเตอร์และเซซิล ก็แสดงให้เห็นว่า นอกจากการเขียนเรื่องตลกขำขันแล้ว ผู้เขียนเรื่องนี้ก็สามารถเขียนฉากต่อสู้ได้ดีเช่นกัน คือมีการบรรยายการเคลื่อนไหวและการใช้ความสามารถของตัวละครได้ชัดเจน และตัวละครแต่ละตัวก็มีความเก่งกาจทัดเทียมกัน ผู้อ่านจึงไม่สามารถเดาได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ และสนุกที่ได้จินตนาการถึงตัวละครเวลาที่ใช้ความสามารถต่างๆ อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวละครหลายตัวมีความสามารถคล้ายกับการ์ตูนญี่ปุ่นบางเรื่อง เช่น นูระ หลานจอมภูติ หรือ นารุโตะ นินจาจอมคาถา หากผู้เขียนจะสร้างตัวละครที่มีความสามารถไม่ซ้ำแบบใครขึ้นมาได้ก็คงจะดีมาก

ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้น ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ความเฮฮาที่เกิดขึ้นภายในร้านกาแฟ แต่ผู้เขียนก็ได้ทิ้งเงื่อนงำหลายอย่างไว้ให้ผู้อ่านสนใจติดตาม ไม่ว่าจะเป็น ความลึกลับของเซซิลที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ข่าวเรื่องการหลบหนีออกจากคุกของนักโทษปิศาจ ปิศาจที่เข้าสิงวิกเตอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปิศาจ เป็นต้น ซึ่งแต่ละปมที่ผู้เขียนทิ้งไว้ก็สามารถทำได้อย่างกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง เช่น ข่าวนักโทษปิศาจ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ส่งมาที่ร้าน ต่อจากนั้นวิกเตอร์ที่เป็นแวมไพร์ก็ก่อเหตุฆ่าคน ในระยะแรกผู้อ่านจะไม่เอะใจ เพราะขึ้นชื่อว่าแวมไพร์ก็ต้องดูดเลือดคนอยู่แล้ว เมื่อสันนิษฐานว่าวิกเตอร์ถูกปิศาจเข้าสิง มิเนอร์วาจึงเดินทางไปขอยันต์ไล่วิญญาณที่โบสถ์ของมนุษย์ ก็เป็นเหตุผลที่เหมาะสมที่ทำให้ตัวละครต้องเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เป็นต้น คาดว่าเรื่องราวเหล่านี้จะได้รับการสานต่อในภาคต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม เท่าที่อ่านมาพบว่า นิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครเป็นกลวิธีหลัก จึงทำให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครแต่ละคนเป็นอย่างดี แต่ยังมองไม่เห็นโครงเรื่องหลักที่ชัดเจนว่านิยายเรื่องนี้จะดำเนินเรื่องไปอย่างไร จากที่ผู้เขียนได้บอกว่าในสี่ภาคจะดำเนินเรื่องแตกต่างกัน น่าจะเป็นความคิดที่ดีที่ผู้อ่านจะได้พบกับนิยายหลายรสชาติ แต่ผู้เขียนก็ต้องใช้ความสามารถอย่างมากที่จะคุมโครงเรื่องหลักให้ดำเนินไปถึงจุดจบได้ ขอแนะนำผู้เขียนว่าอาจจะคลี่คลายปมปริศนาที่เกริ่นไว้ไปทีละเรื่องในแต่ละภาค และค่อยๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงเรื่องหลัก ซึ่งขอเดาว่าเป็นประวัติและเรื่องราวของเซซิล จนไปพบกับฉากจบในภาคสุดท้าย ก็คงจะจบเรื่องได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

สุดท้ายเป็นเรื่องของการสะกดคำ ส่วนใหญ่นิยายเรื่องนี้ไม่ค่อยมีคำที่สะกดผิด บางคำที่มีเช่น น้ำแข็งใส ที่ถูกคือ น้ำแข็งไส ชีทเค้ก ที่ถูกคือ ชีสเค้ก มั๊ย ที่ถูกคือ มั้ย ว๊าว ที่ถูกคือ ว้าว เป็นต้น จึงขอให้ผู้เขียนตรวจการสะกดคำให้ถูกต้อง ก็จะทำให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก
     
 
ใครแต่ง : Hoshigumi/Star-sky
21 ต.ค. 53
60 %
4 Votes  
#50 REVIEW
 
เห็นด้วย
9
จาก 10 คน 
 
 
The Last Legend มหาสงครามตำนานสิ้นโลก

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 7 ธ.ค. 53

นิยายแฟนตาซีเรื่องยาว The Last Legend มหาสงครามตำนานสิ้นโลก ของ Hoshigumi ที่ขณะนี้เพิ่งโพสต์ไปแค่ตอนที่ 6 ของภาคแรก คือ “ภาคปริศนาวิญญาณฆาตกรสะท้านโลก” หากอ่านเฉพาะชื่อเรื่องและชื่อภาคนั้น ก็คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องราวที่หลุดออกจากกรอบของนิยายแนวโรงเรียนเวทมนตร์ได้ แต่เมื่อได้อ่านการแนะนำเรื่องแบบย่อๆ ของ Hoshigumi กลับพบว่านิยายเรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถหลีกหนีจากนิยายแนวโรงเรียนเวทมนตร์ได้ เพราะแนะนำเรื่องไว้ว่า “เมื่อเทพที่ถือคติ'เอ็งมาข้าเผ่น'จำต้องเข้าโรงเรียนที่เพื่อนเป็นผู้อำนวยการ ลูกศิษย์เป็นรุ่นพี่พร้อมภารกิจตามหาองค์หญิงปิดท้ายด้วยวิญญาณที่ต้องส่งไปเกิดอีก 1 ดวง"ข้าอยากกลับบ้าน"

ในภาคนี้นำเสนอเรื่องราวของเรย์น่า เดอ รีน เทพสาวอายุ 780 ปี ซึ่งเป็นเทพแห่งการดนตรีที่ต้องปลอมตัวเป็น เรย์ แกรนซอวร์ เด็กชายอายุ 15 ปี เข้ามาสอบคัดเลือกเป็นนักเรียนใหม่ของโรงเรียน God bless ที่เพื่อนของเธอ ฟาเอนาธ (เทพแห่งสงคราม) เป็นผู้อำนวยการอยู่ เพียงเพราะเธอได้รับมอบหมายภารกิจจากองค์ไรรัส ให้ตามหาเจ้าหญิงซาฟีน่า องค์หญิงแห่งดินแดนเทพให้พบ ซึ่งองค์หญิงผู้ที่เป็นปริศนานั้นก็เป็นนักเรียนของโรงเรียนนี้ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ได้รับภารกิจสำหรับนักเรียนใหม่ให้ช่วยดวงวิญญาณที่ได้รับมอบหมายให้ไปสู่สุคติภายในเวลา 1 สัปดาห์ ผู้อ่านก็คงต้องติดตามต่อไปว่าเรย์น่าจะสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับหมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงหรือไม่ อย่างไร

ในเรื่องนี้ Hoshigumi เลือกใช้กลวิธีสร้างเรื่องที่ทำให้เรื่องมีมิติได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้นิยายเรื่องนี้มีทั้งโครงเรื่องหลัก (plot) ซึ่งเป็นโครงเรื่องของนิยาย The Last Legend มหาสงครามตำนานสิ้นโลก ที่ Hoshigumi เผยโครงเรื่องดังกล่าวไว้แล้วในบทนำ นั่นคือ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ยอมรับภารกิจสำคัญจากซินเยอร์ (ในที่นี้น่าจะหมายถึงพระเจ้า) คือ การเป็นผู้ทำลายโลก ขณะเดียวกันก็มีโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ซึ่งเป็นโครงเรื่องหลักของภาคนี้ คือ การตามหาองค์หญิงแห่งดินแดนเทพ และ การช่วยวิญญาณหนึ่งดวงให้ไปสุคติ การที่จะผสานโครงเรื่องทั้งสองให้เข้ากันได้อย่างลงตัวนั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก แต่ผู้วิจารณ์ก็เห็นความพยายามของ Hoshigumi ที่จะผสานโครงเรื่องทั้งสองเข้าด้วยกัน แม้ว่าเรื่องเพิ่งจะดำเนินมาเพียง 6 ตอน ด้วยการแทรกเรื่องคำทำนายของเฟเรียส ที่ว่า “เรย์กีรัส ฟิวนาเรีย เดอ รียาลอส เป็นเทพแห่งความวิบัติ ผู้ซึ่งกำลังจะล้างโลกนี้” หรือการแทรกเรื่องราวเบื้องหลังของเรย์น่าที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันเรย์น่าก็มักจะพูดเป็นนัยๆ อยู่บ่อยครั้งว่าตนเองเป็นปีศาจ ที่ไม่ตั้งมั่นในความดีงามอีกแล้ว เช่นตอนที่เรย์น่าคิดในใจว่า “...ไม่รู้ว่าจะครองสติอยู่ได้อีกนานแค่ไหน วันดีคืนดีเธออาจกลายเป็นปิศาจไปเลยก็ได้” ก็เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าเรย์น่าอาจจะเป็นคนเดียวกับหญิงสาวที่ยอมรับภารกิจสำคัญจากซินเยอร์ในการทำลายโลกก็ได้ อย่างไรก็ดีคงต้องติตดามว่า Hoshigumi จะสามารถผสานโครงเรื่องเหล่านี้ได้อย่างลงตัวมากน้อยเพียงใด

หากพิจารณาเฉพาะเรื่องราวในภาคนี้จะพบว่าจุดเน้นสำคัญของเรื่องน่าจะอยู่ที่ “วิญญาณฆาตกรสะท้านโลก” ว่าแท้ที่จริงแล้วคือใคร มีความสัมพันธ์กับเรื่องนี้อย่างไร และช่วยเสริมโครงเรื่องใหญ่ของมหาสงครามตำนานสิ้นโลกได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนควรให้ความสนใจ เพราะหากวางความสัมพันธ์ไว้เป็นอย่างดีก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมการประสานระหว่างโครงเรื่องหลักกับโครงเรื่องย่อยที่วางไว้ให้เรียงร้อยกันได้อย่างแนบสนิทมากขึ้นด้วย แต่ขณะนี้เรื่องเพิ่งเริ่มต้น ยังเปิดตัวละครไม่ครบ ดังนั้น ผู้อ่านจึงทำได้แต่เพียงคาดเดาว่าบุคคลปริศนาผู้นี้คือใคร โดยส่วนตัวเห็นว่าตัวละครที่น่าสงสัยที่สุดก็คือ ฉีเหอหลง ผู้สืบเชื้อสายเพียงหนึ่งเดียวของเผ่าพันธุ์ปิศาจดึกดำบรรพ์ และได้รับการช่วยเหลือจากเรย์น่า ซึ่งเขาสำนึกในบุญคุณของเธอมากว่า 100 ปีแล้ว

กลวิธีอีกอย่างหนึ่งที่ Hoshigumi ใช้สร้างความน่าสนใจและมิติให้กับเรื่องคือ ความลับและปริศนาต่างๆของตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรย์น่า ผู้ซึ่งมีความหลังที่น่าสนใจชวนติดตามในหลายแง่มุมที่เริ่มเผยให้เห็นไว้บ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างเรย์น่ากับดินแดนเอลไทน์ ที่ดูเหมือนว่าจะมีความซับซ้อนอย่างมาก นับตั้งแต่เธอเป็นอดีตคู่หมั้นของเก็นไซ ราชาปีศาจ หรือที่เธอช่วยฉีเหอหลงให้หนีออกจากเอลไทน์ เช่นเดียวกับตัวเธอเองก็หนีออกจากเอนไทน์ด้วย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้คงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรย์น่าพยายามที่จะหลบหน้านาราคุเจ้าชายแห่งเอนไทล์ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีปริศนาที่เกี่ยวกับวิญญาณฆาตกรสะท้านโลก และปริศนาของเจ้าหญิงซาฟีน่า ที่รอให้เปิดเผยอยู่
นอกจากนี้ ความสมเหตุผลของภารกิจที่ปรากฏในเรื่องยังถือว่าเป็นข้อด้อยของเรื่องนี้อยู่ นับตั้งแต่ภารกิจแรกที่ซินเยอร์มอบหมายให้ผู้หญิงคนหนึ่งรับเป็นผู้ทำลายโลก ในที่นี้พบว่าการที่คนๆ หนึ่งตัดสินใจหันหลังให้กับคนสนิทที่แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นคนที่รัก คนที่เกลียด คนที่ไว้ใจ คนที่เคารพ และพร้อมจะให้ทุกคนที่รู้จักกลายเป็นศัตรู ถูกเกลียดชัง ไม่มีคนอยู่เคียงข้าง และท้ายที่สุดก็จะตายด้วยน้ำมือเพื่อนของตัวเองได้นั้น เหตุผลที่ผลักดันให้ตัดสินใจเช่นนี้ต้องเป็นเหตุผลที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมากด้วยเช่นกัน แต่ทว่าเหตุผลที่ Hoshigumi กำหนดไว้ในบทนำนั้นไม่น่ามีน้ำหนักมากพอที่จะผลักดันให้คนๆ หนึ่งตัดสินใจยอมทิ้งชีวิตที่ดีอยู่แล้วในตอนนี้ เพื่อไปผจญชีวิตที่ยากลำบากมากกว่า เพียงเพื่อให้ได้พบเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น หาก Hoshigumi ยังคงจะยืนยันให้ผู้หญิงคนนี้รับภารกิจนี้ก็ควรที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้ให้มากกว่านี้ว่ามีความสำคัญหรือมีความหมายต่อชีวิตของผู้หญิงคนนั้นอย่างไร ซึ่งต้องสมเหตุผลมากพอที่จะให้คนๆ หนึ่งยอมทิ้งชีวิตของตนเพื่อเพื่อนคนนั้นได้ หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนจากเพื่อนเป็นพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ หรือคนรัก ที่มีความสำคัญต่อตนเองอย่างมาก

เช่นเดียวกับในภารกิจที่สองที่ให้เรย์น่า ปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชายวัย 15 ปี ชื่อเรย์ เพื่อไปตามหาเจ้าหญิงซาฟีน่า ในโรงเรียน God bless ทั้งๆที่มีวิธีตามหาที่ง่ายกว่าและสะดวกกว่าอยู่แล้ว นั่นคืออาศัยให้ฟาเอนาธช่วย เพราะเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทราบภารกิจของเรย์น่าอยู่แล้ว ขณะเดียวกันฟาเอนาธยังเป็นทั้งเพื่อนและผู้อำนวยการของโรงเรียนนี้ ซึ่งมีอำนาจและวิธีการที่จะสืบหาองค์หญิงได้ง่ายและสะดวกกว่าการปลอมตัวของเรย์น่าเสียอีก

ในเรื่องความสมหตุผลยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ยังติดใจสงสัยอยู่ก็คือ การเข้ามาเรียนในโรงเรียน God bless ของนาราคุ เนื่องจากนาราคุเป็นเทพชั้นสูง มีฝีมือเก่งกล้า และเฉลียวฉลาดอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่เขาจำเป็นจะต้องมาทำตัวเป็นเด็กชายอายุ 15 ปีเพื่อสอบเข้าโรงเรียน God bless เลย เหตุผลข้อเดียวที่คาดเดาได้ตอนนี้คือ Hoshigumi ต้องการเพิ่มสีสันและความสนุกให้กับเรื่องในแง่ของความลับและความสัมพันธ์ระหว่างเรย์น่าและนาราคุ เพราะตลอดเวลาที่เรย์น่าปลอมตัวเป็นเรย์ เธอเชื่อว่านาราคุจำเธอไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนาราคุจำเรย์น่าได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น และตัดสินใจว่าจะแกล้งทำเป็นจำไม่ได้ เพื่อดูว่าเรย์น่าจะทำอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ดียังมีข้อสงสัยประการหนึ่งที่พบคือการตั้งชื่อตัวละคร จะพบว่าตัวละครส่วนใหญ่มีชื่อเป็นภาษาตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น เรย์น่า เรย์ วิสเปอร์ วินเซ็นต์ ฟาเอนาธ เซนเฟียร์ วาเดอรีน นารีส นาดีส วาเนซ่า หรือ ออสเตน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีตัวละครอีกจำนวหนึ่งที่มีชื่อเป็นภาษาตะวันออก ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และไทย เช่น คิมอึลแจ รัชดา เกษมบุญญาณ เลี่ยปิงยี่ เลี่ยปิงหวาง และยังมีตัวละคร 3 ตัวที่มีความสัมพันธ์เอลไทน์ หรือดินแดนปีศาจ ที่มีชื่อเป็นภาษาตะวันออก เช่น นาราคุ (เจ้าชายนรกแห่งเอลไทน์) เก็นไซ (ราชาปิศาจ) และ ฉีเหอหลง (ผู้ที่หลบหนีมาจากเอนไทล์) จนอดสงสัยไม่ได้ว่าการที่ชื่อตัวละครแตกต่างกันนี้มีผลมาจากการแบ่งเผ่าพันธุ์ หรือแบ่งจากอาณาจักรที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่ หรือว่า Hoshigumi อาศัยเกณฑ์อื่นใดในการตั้งชื่อ ในกรณีนี้ยังมิอาจระบุได้อย่างแน่ชัดได้ในขณะนี้

ในแง่ของการสร้างตัวละคร ผู้วิจารณ์พบว่าในเรื่องนี้มีตัวละครเป็นจำนวนมาก เพราะแค่เพียง 6 ตอนมีตัวละครกว่า 30 ตัว ซึ่ง Hoshigumi ก็ทราบในประเด็นนี้เช่นกัน และพยายามที่จะสร้างความแตกต่างของตัวละครเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นการบรรยายบุคลิกลักษณะและอุปนิสัยที่ต่างกัน ชื่อที่มาจากหลากหลายภาษา แต่ผู้อ่านก็ยังสับสนและยังไม่สามารถจดจำตัวละครส่วนใหญ่ได้อยู่ดี เนื่องจากตัวละครจำนวนมากออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน และแทบจะยังไม่มีบทบาทสำคัญกับเรื่อง ทั้งยังปรากฏตัวแค่ช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดตัวคณะกรรมการนักเรียนทั้ง 13 คน (แต่ตอนแนะนำชื่อมีเพียงแค่ 12 คนเท่านั้น) ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกแต่ชื่อและตำแหน่งเท่านั้น ในกรณีนี้มีวิธีแก้ไขอย่างง่ายๆ คือ ในตอนนี้อาจจะบอกแค่ว่ามี 13 คน และอาจจะแนะนำบางคนที่มีบทบาทในตอนนี้ก่อน ส่วนคนที่เหลือค่อยไปแนะนำในบทอื่นๆ ต่อก็ได้ ก็จะช่วยลดความสับสนให้ผู้อ่านได้ แต่ในขณะที่บรรยายถึงผู้ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ในวิหารแห่งฟ้าที่มี 4 คน ก็เอ่ยชื่อไว้เพียงแค่ 2 คน และในการอธิบายถึงเรื่องราวในวิหารแห่งฟ้านั้นรวบรัดเกินไป จนทำให้ผู้อ่านยังไม่สามารถที่จะแยกแยะความแตกต่างของบุคคลเหล่านี้ได้ จึงอยากให้ Hoshigumi ให้ความสำคัญกับการบรรยายตัวละครในตอนนี้มากขึ้น เพราะเหตุการณ์นี้นับว่ามีความสำคัญต่อเรื่องไม่น้อย เพราะเป็นหนึ่งในภารกิจที่เรย์น่าได้รับมอบหมายให้กระทำให้สำเร็จ

ประเด็นสุดท้ายคือ การใช้ภาษา Hoshigumi มีความสามารถในการใช้ภาษาในระดับดี ทั้งการในการสร้างบทบรรยาย และบทสนทนา ซึ่งส่งผลให้เรื่องราวของเรื่องดำเนินไปอย่างลื่นไหล แต่จะมีเหตุทำให้สะดุดบ้างก็เนื่องมาจากคำผิดที่มีอยู่ประปรายโดยตลอดเรื่อง คำผิดที่พบก็เช่น เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ เป็นนิจ เขียนเป็น เป็นนิด เวท เขียนเป็น เวทย์ หา เขียนเป็น ห๋า (คำว่า “หา” แม้ว่าจะเขียนรูปของวรรณยุกต์เสียงสามัญ แต่เวลาอ่านออกเสียงจะเป็นเสียงวรรณยุกต์จัตวาอยู่แล้ว) ภูต เขียนว่า ภูติ อนุญาต เขียนว่า อนุญาติ ประมวลผล เขียนว่า ประมวนผล หรูหรา เขียนว่า หูหรา ทะนุถนอม เขียนว่า ถนุถนอม เหรอ / หรือ เขียนว่า หรอ หน้าตา เขียนว่า น่าตา สัญชาตญาณ เขียนว่า สัญชาติญาณ ทิศตะวันออก เขียนว่า ทิสตะวันออก อารยธรรม เขียนว่า อารยะธรรม ล้ำหน้า เขียนว่า ลำหน้า อานิสงส์ เขียนว่า อานิสง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าหาก Hoshigumi สามารถที่จะยึดกุมแก่นเรื่องที่ต้องการเสนอ โดยการผสานโครงเรื่องทั้งสองเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว พร้อมๆ กับ ลดข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดความสมเหตุสมผลในบางจุด การสร้างตัวละครแต่ละตัวได้อย่างโดดเด่น รวมทั้งการระมัดระวังเรื่องคำผิด ก็จะช่วยให้เรื่องนี้สมบูรณ์มากขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้เรื่องน่าสนใจและน่าติดตามได้ไม่ยากนัก


-------------------------------
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12