ช่วงก่อนหน้านี้อ่านแต่หนังสือวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองด้วยความบ้าคลั่ง ตอนนี้เลิกสนใจแล้ว อ่านปัญหาทางโลกเบื่อก็หันเข้าหาทางธรรมคือหันมาหมกตัวอยู่ตรงมุมปรัชญา สัปดาห์ที่แล้วบ้าอ่านปรัชญาตะวันตก สัปดาห์นี้จะบ้าอ่านปรัชญาทางตะวันออกที่รู้สึกได้ว่าข้อคิดหลายๆอย่างเหนือชั้นกว่าทางตะวันตกอยู่หลายก้าว โดยเฉพาะปรัชญาทางพระพุทธศาสนา กว่าจะรู้ตัวก็พบว่าตัวเองอ่านหนังสือราวๆสัปดาห์ละเจ็ดเล่มซะแล้ว
ช่วยไม่ได้ ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ฉันจะได้อยู่เรียนที่ฝั่งนครปฐม ปีหน้าก็ต้องกลับกรุงเทพฯแล้ว และหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ใหญ่กว่าห้องสมุดที่วังท่าพระ ดังนั้นฉันจะใช้หนึ่งปีที่เหลืออยู่นี้อ่านหนังสือที่อยากอ่านให้เต็มที่ จะได้ไม่ค้างคาใจ ไหนๆปีนี้ก็มีเวลาว่างมากกว่าปีที่แล้ว
การได้รู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยรู้ก็ทำให้มีความสุขมากเลยจริงๆ แม้ว่าการได้รู้ในเรื่องที่ไม่จำเป็นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หนักหัวเปล่า และคนเราไม่อาจทุกสิ่งทุกอย่างจากทั่วทั้งอวกาศทุกห้วงจักรวาล หรือต่อให้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างจริงก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ถึงจะเป็นอย่างนั้นฉันก็อยากรู้
ถ้าได้รู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากรู้ ได้รับคำตอบอันสมเหตุสมผลพอที่ตัวเองเกิดมาและมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ที่มีความรู้สึก สงสัย คาดหวัง เสียใจ โกรธ เศร้า ว่างเปล่า ฯลฯ คนเราคงจะหมดอาลัย และพร้อมจะตายได้เมื่อเวลานั้นมาถึงโดยปราศจากความตะขิดตะขวงใจ
เพราะอย่างนั้นล่ะมั้ง มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจรู้ได้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
อ่านเกี่ยวกับประวัติและแนวความคิดของนิทเช่ รู้สึกสนใจมาก จะต้องหาอ่านงานเขียนของเขาให้ได้ ไม่รู้ว่ามีฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยรึเปล่า
หนังสือของพุทธทาสภิกขุก็น่าสนใจมาก หยิบเล่มไหนก็ดีมีสาระ น่าอ่านทุกเล่ม โดยเฉพาะที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ ปกและรูปเล่มสวยงาม ทุกภาพแฝงความหมาย ถือเป็นการรวมความชาญฉลาดทางปรัชญา ภาษา สัญลักษณ์ และศิลปะเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
‘คู่มือมนุษย์’ ดีจริง ไม่แปลกใจเลยที่เคยมีผู้ใหญ่สองคน(คนละเวลา)แนะนำให้ฉันอ่าน
ลัทธิอัตถิภาวนิยมก็น่าสนใจ
เชน ศาสนาที่สงบ น่าสนใจรองมาจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทเลยทีเดียว วิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่รับรู้สึกความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตในทุกขณะ ชาวเชนจะรำลึกถึงความตายทุกคืนก่อนนอน ว่าเช้าวันรุ่งขึ้นอาจจะมีโอกาสตื่นขึ้นมาหรือไม่ตื่นอีกเลยก็เป็นได้ พวกเขาจึงจัดการทำทุกเรื่องให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน บังเอิญว่าฉันเองก็รำลึกถึงความตายทุกวันในลักษณะที่คล้ายกันนั้นเช่นกัน
อ.กวงเห็นฉันอ่านหนังสือเกี่ยวกับนิทเช่ ก็สนับสนุนว่าคนนี้ดีจริงด้วยดวงตาเป็นประกายและท่าทางที่ตื่นเต้นขึ้นมาเล็กน้อย อ.กวงคงจะชอบนิทเช่มาก ซึ่งก็...อืม น่าจะเป็นแบบนั้นแหละ อ.กวงช่างเหมือนกับนิทเช่ พวกเขาสองคนต่างก็หลุดแล้วจากกฎเกณฑ์สามัญของโลก
สัปดาห์นี้ฉันก็ต้องพึ่งยาพาราฯอีกแล้ว เพราะวิชาดีไซน์ ...หรือไม่ก็เพราะอ.ที่สอนวิชาดีไซน์
ปวดหัว เพราะไดอะแกรม ฉันเลยเก็บข้าวของ ทั้งที่งานยังไม่เสร็จตามเป้าหมายของอ. แล้วเอานิทเช่ขึ้นมาอ่าน ตอนนั้นแหละที่อ.กวงเห็น อ.ทั่วไปอาจจะว่าและบังคับให้เราทำงานต่อ แต่ไม่ใช่อ.ผู้นี้ เขาสนับสนุนหนังสือเล่มนี้อย่างมาก แม้ว่าจะเป็นหนังสืออ่านเล่นที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการดีไซน์ในงานสถาปัตยกรรมเลยก็ตาม
อ.กวงสังเกตเห็นกระเป๋าที่เก็บข้าวของเรียบร้อยแล้ว ถามว่า “ไม่ทำงานแล้วเหรอ”
ฉันตอบ “เอ่อ..ค่ะ”
“แต่คิดแล้วใช่ไหมว่าจะทำยังไง”
“ค่ะ พอจะคิดไว้แล้ว แต่...คือว่า...ยังไม่อยากทำตอนนี้ (บอกในสิ่งที่คิดว่าจะทำคร่าวๆ)”
อ.กวงแนะนำเทคนิคกับอุปกรณ์ในแบบที่ฉันจะทำ แล้วก็หัวเราะ แซวว่า “เลิกงานไวดีเนอะ”
แล้วเขาก็เดินไปดูโมฯคนอื่น จบแค่นั้น ไม่มีคำตำหนิสักคำ หรือแต่กิริยาท่าทางหรือสายตาสักแวบที่สื่อถึงการตำหนิ คำว่าชิวคืออะไร เพิ่งจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ก็คราวนี้
ฉันรู้สึกงุนงง แล้วก็อดเปรียบเทียบไม่ได้
ปี1 เวลาเป็นเวลา อ.กำหนดให้ทำงานก็ต้องทำงานให้ทันตามกำหนด
เข้าเรียนต้องตรงเวลา
ส่งงานไม่ทันกำหนด หักเลททันที
งานในเพลท ต้องเขียนแบบตามหลักของวิชางานเขียนแบบ เส้น สัญลักษณ์ ต้องถูกต้องตามที่เขาเขียนกันทั่วไป
เน้นกลไก อ.มองการณ์ไกลว่าสถาปัตยกรรมในรุ่นที่พวกฉันจะได้เจอจะไม่ใช่อาคารเฉยๆ แต่จะเป็นอาคารมีกลไกที่จัดการสิ่งพื้นฐานได้ภายในตัวเอง
ทุกสิ่งทุกย่างต้องมีเหตุผลและที่มาที่ไป
ต้องเตรียมบทพูดออกไปพรีเซนต์ให้อ.ฟังทุกครั้ง ยิ่งมีอะไรให้พูดยิ่งยาวเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
สั่งทีต้องทำทั้งเพลททั้งโมฯ เหนื่อยเป็นบ้า
เช็คชื่อทุกคาบ มาสายหักเลท
เช็คงานเป็นจำนวนชิ้นทุกคาบ ชิ้นไหนขาด ช่อง(คะแนน)นั้นว่าง
ต้องแต่งกายด้วยชุดนักศึกษา ไม่งั้นไม่นับว่าเข้าเรียน (แบบเทรน พลาดตั้งหลายครั้ง)
พักกลางวันหนึ่งชั่วโมง หรืออาจจะน้อยกว่านั้น
งานต้องเนี้ยบอย่างกับทำงานฝีมือ
ใบโปรแกรมยาวพรืด อาจจะยาวถึงหกหน้ากระดาษ เต็มไปด้วยเรื่องราวสมมุติและคำสั่งอย่างละเอียด
คำศัพท์ทางสถาปัตย์ใหม่ๆทุกคำจะได้รับคำอธิบาย
คำถามเกี่ยวกับงานจะได้รับคำตอบ
อ.จะตรวจงานของทุกคนในกลุ่มอย่างละเอียดมาก
แยกตรวจงานกลุ่มใครกลุ่มมัน
อ.ทุกคนช่างบิวท์อารมณ์ สรรหาสารพัดวิธีการมากดดันเด็ก จนร้องไห้ได้ทุกครั้งที่ตรวจงาน (อย่างน้อยก็ฉันคนหนึ่ง ถึงขนาดต้องดื่มน้ำเยอะๆก่อนตรวจงาน โดยเฉพาะตอนที่ตรวจกับอ.เอ็กซ์ กับอ.ชิ ความรู้สึกนี่แย่มาก ไม่มีครั้งไหนเลยที่ไม่ร้องไห้ แต่ก็รู้ว่าได้อะไรจากอ.ชิมากมายแบบที่คงยากจริงๆที่จะพัฒนาตัวเองในชั่วระยะเวลาสั้นๆด้วยวิธีการอื่น)
ปี2 ในเวลาเรียนจะทำอย่างอื่นก็ได้ หรือจะหายหัวออกไปไหนก็ได้ งานไม่เสร็จตามกำหนดก็ได้ แต่ต้องรวมรวมงานทุกสัปดาห์ทำส่งให้ทันตรวจงานใหญ่ท้ายโปรเจค (ตรวจไฟนอล) เป็นอันใช้ได้
ไม่ต้องเข้าเรียนตรงเวลาก็ได้ (สำหรับกลุ่มฉันเท่านั้น) เพราะอ.ก็ไม่ตรงเวลาเช่นกัน ออกจะไม่ตรงเวลาแบบทะลุโลกเลยด้วยซ้ำ อย่างที่บอก...ไม่ใช่แค่อ.กวงหรอก...ท่านอ.ทั้งสองหลุดพ้นแล้วซึ่งกฎสามัญของชาวโลก ในเรื่องของการนับเวลาตามเข็มนาฬิกาก็ด้วย จะว่าไปก็คุ้นๆแฮะเหมือนใครสักคน ธรรมชาติของตัวฉันเองก็สนใจวันเวลาซะที่ไหน เมื่อต้นเดือนนี้ (มิ.ย.) ยังนึกว่าเป็นปลายดือนก.ค.อยู่เลย แถมยังสับสนปีพ.ศ.จนต้องควานหาปฏิทินอีกต่างหาก
ส่งงานไม่ทันกำหนด ก็ไม่หักเลท จนป่านนี้ยังไม่มีการตรวจให้คะแนนเลยสักครั้ง จะมีก็แต่ตรวจคร่าวๆเพื่อหาแนวทางทำงานต่อ
งานในเพลท จะเขียนแบบออกมายังไงก็ได้ให้ดูดี ดูง่าย ติสต์แบบจิตรกรรมอ.ก็ดี เนี้ยบสวยอ.ก็ดี ทอนรูปทรงเป็นพิกเซลอ.ก็ดี เท่าที่สังเกต ยิ่งแปลกใหม่ยิ่งดีอ.สนใจ
เน้นฟอร์ม อ.ปีนี้มองการณ์ไกลว่าสถาปัตยกรรมในรุ่นที่พวกฉันจะได้เจอจะไม่ใช่อาคารเรียบๆ แต่จะเป็นอาคารที่มีฟอร์มเด่นสะดุดตา ซึ่งฟอร์มจะเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนสนใจ เพราะสามารถรับรู้ได้ง่ายที่สุดผ่านทางสายตา
จงปล่อยวางตรรกะ
ไม่มีการพรีเซนต์ และไม่มีเหตุผลจึงไม่มีเนื้อหาอะไรจะให้พูด หรือไม่รู้จะเปลี่ยนให้เป็นคำพูดยังไง อ.รับรู้ได้ด้วยการมองภาพคร่าวๆในเพลท
สั่งทีละชิ้น สัปดาห์นึงเพลทอย่างเดียว อีกสัปดาห์หนึ่งโมฯอย่างเดียว คาดคงไม่มีงานซ้ำซ้อนขอตรวจนอกรอบอย่างปี1
ไม่มีการเช็คชื่อใดๆทั้งสิ้น อย่าว่าแต่หักเลทเลย
ไม่มีการเช็คจำนวนงาน รอไฟนอลทีเดียว งานไม่เสร็จ(ในคาบเรียนปกติ)ไม่เป็นไร ก็ทำต่อ
แต่งชุดนักศึกษาหรือชุดไปรเวทก็ได้ กึ่งนักศึกษากึ่งไปรเวทก็ได้
พักกินข้าวไม่กำหนดเวลา จะกินตอนไหนก็ได้ นานเท่าไหนก็ได้ แวบหายหัวไปเที่ยวเล่นก็ยังได้ ไม่กลับไปก็คงได้ (ก็แค่อาจจะทำงานต่อไม่ได้)
งานไม่ต้องเนี้ยบก็ได้ ถ้ายังไม่ไฟนอล
ไม่มีใบโปรแกรม ไม่มีคำสั่งกลาง งานแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ไม่กำหนดขอบเขตงานอย่างชัดเจน
คำศัพท์ทางสถาปัตย์ใหม่ๆมากเกินไป รู้สึกว่าปล่อยมันไปกว่า สักวันหนึ่งข้างหน้าที่คุ้นชินแล้วฉันคงเข้าใจเอง
คำถามเกี่ยวกับงานจะได้รับคำตอบ...ว่า “ตามใจคุณเลยครับ ผมคิดว่าพวกคุณน่าจะสามารถตัดสินใจได้เอง(ว่าจะทำงานมากน้อยแค่ไหน ลักษณะไหน อย่างไร อะไรที่เป็นความงาม หรือแม้แต่ดีแล้วหรือยังไม่ดี)”
อ.จะตรวจงานตามอารมณ์ บางกลุ่ม อ.ทำตัวเหมือนลูกค้ามากๆ คืองานไหนไม่สามารถดึงดูดความสนใจของเขาได้ก็จะไม่มองเลยด้วยซ้ำ จนเจ้าของงานเกิดคำถามในใจว่า “แล้วฉันจะทำงานมาทำไม” การคาดเดารสนิยมของอ.ให้ได้จึงสำคัญ
ตรวจงานเป็นคู่สองกลุ่มรวมกัน
ไม่มีการกดดันให้ทำงานอีกแล้ว มีแต่ความอิสระอย่างไร้ขอบเขต
เพราะว่าไม่สมควรเครียดเป็นที่สุด อิสระมากเกินไป ฉันก็เลยเผลอเครียดกับมันทุกสัปดาห์ เพื่อนที่เรียนกลุ่มเดียวกันก็อยู่ในภาวะอารมณ์อันสับสนอย่างเดียวกัน
จะว่าไปแล้ววันนี้เป็นวันเสาร์ สิ่งที่ฉันทำวันนี้คือ ทำงานบ้าน เก็บกวาดขยะที่ทำรกไว้ เพื่อที่หลังจากนี้ทำโมชิ้นใหม่จะได้มีพื้นที่ให้ทำรกได้สะดวกๆ
เตรียมเสื้อผ้าไว้ใส่ไปเรียน
ตรวจดูอุปกรณ์เรียนที่หมดไป
ไปหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ ยืมหนังสือสำหรับอ่านในหนึ่งสัปดาห์นี้เพื่อที่จะมีอะไรดีๆให้ทำระหว่างรอดูรุ่นน้องทำกิจกรรมตอนเย็น และสำหรับเวลาว่างสั้นๆระหว่างเปลี่ยนคาบเรียน
ตุนผลไม้สำหรับหลังจากนี้ที่หลังเลิกเรียนต้องไปดูน้อง กลับดึก
ซื้ออุปกรณ์ที่ขาดไป
เริ่มทำโมฯดีไซน์
ตรวจดูไม้บาร์ซ่าที่จะทำโมคอนฯบันไดวันพรุ่งนี้ว่าจะพอรึเปล่า
วางแผนการใช้เวลาทำงานในหนึ่งสัปดาห์
รีดชุดนักศึกษา
ยังไม่พอ พิมพ์ไดอารี่ยังมีแต่เรื่องเรียนอีกตะหาก
นี่หรือคือการใช้เวลาวันหยุด ?
ความคิดเห็น