วัดอินทาราม ข้อมูลทั่วไป
วัดอินทารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยประกาศไว้ในพระราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๖ ตอนที่ ๖๔ ลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒
วัดอินทาราม เป็นคำสมาสมาจาก อินทร์ (แปลว่า เทวดาผู้ปกครองเทวดาทั้งหลาย และเป็นคติตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ใช้พระอินทร์เป็นสัญลักษณ์แทนพระมหากษัตริย์) + อาราม (แปลว่า วัด) = อินทาราม วัดของพระอินทร์
สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๒ ริมคลองบางกอกใหญ่ ถนนเทิดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับคลองบางกอกใหญ่ขนานตามลำคลอง
ทิศใต้ ติดต่อกับคู และทางรถไฟสายมหาชัย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับคูของวัด
ทิศตะวันตก ติดต่อกับคลองบางยี่เรือ (คลองสำเหร่) ขนานตามลำคลอง
แต่เดิมหน้าวัดอยู่ทางคลองบางกอกใหญ่ แต่เมื่อตัดถนนแล้วจึงใช้ทางหลังวัดเป็นหน้าวัดด้วย
ประวัติโดยสังเขป วัดอินทารามเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดสวนพลู หรือวัดบางยี่เรือไทย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอารามและบริจาคที่ดินให้วัดเป็นจำนวนมาก ทรงตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ และโปรดมาทรงศีลบำเพ็ญกรรมฐาน เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตในปีพ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ประดิษฐานพระบรมศพถวายพระเพลิงและบรรจุพระบรมอัฐิที่วัดนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) ปลัดบัญชี กรมมหาดไทยได้บูรณะใหม่ น้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอินทาราม แต่กลับถูกลดชั้นลงมาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา
ลักษณะบริเวณวัด เดิมหน้าวัดอยู่ทางคลองบางกอกใหญ่ ต่อมาเมื่อตัดถนนแล้วได้ใช้ทางหลังวัดเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อเข้า ออกวัดได้ด้วย เนื้อที่ของวัดเดิมเป็นแปลงเดียวกันตลอดทั้งวัด เมื่อการรถไฟสายมหาชัยตัดเข้ามาทางข้างหลังวัด กินเนื้อที่เข้ามาทางด้านตะวันออกจดคลองบางยี่เรือ และกรุงเทพมหานครได้ตัดถนนเข้ามาเฉียดกำแพงรอบนอกพระอุโบสถจดคลองบางยี่เรือ เพราะเหตุนี้ ที่ดินวัดจึงแยกออกเป็นสองแปลง เนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ๒ งาน เป็นที่ตั้งวัด และเนื้อที่ประมาณ ๙ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา เป็นที่ธรณีสงฆ์สำหรับจัดหาผลประโยชน์บำรุงวัด ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ทางวัดได้อนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างโรงเรียนหนังสือไทย สังกัดกรมสามัญศึกษาในที่ดินของวัด ซึ่งอยู่ติดกับถนนเทิดไทย จำนวนเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน
สิ่งสำคัญภายในวัด ๑. พระอุโบสถเก่า
๒. พระอุโบสถใหม่
๓. พระวิหารน้อย หรือพระวิหารพระเจ้ากรุงธนบุรี
๔. พระเจดีย์กู้ชาติ
๕. พระปรางค์
๖. ศาลาการเปรียญ
๗. พระวิหารเดิม
๘. สีมาใหญ่
ประวัติของสถานที่ตั้ง มูลเหตุของชื่อวัด
วัดอินทารามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๔๓๒ ริมคลองบางกอกใหญ่ ถนนเทิดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร แต่เดิมชื่อสถานที่คือปากคลองบางยี่เรือ ตำบลตลาดพลู จังหวัดธนบุรี เคยมีทางเข้าวัดจากทางคลองบางกอกใหญ่หรือลำน้ำสายเดิมของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางสัญจรหลักจากปากอ่าวไทยสู่กรุงศรีอยุธยาในอดีต และบริเวณแถบลำคลองสายนี้เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองฑณบุรี หรือธนบุรี ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ดังจะพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในอดีตจากโบราณสถานจำนวนมากบริเวณลำน้ำสายนี้ ต่อมาเมื่อตัดถนนแล้วจึงใช้ทางหลังวัดเป็นหน้าวัด เป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อเข้า-ออกวัดได้อีกทางหนึ่ง
สาเหตุที่พระเจ้ากรุงธนบุรีบูรณปฏิสังขรณ์ให้ความสำคัญกับวัดนี้เป็นพิเศษคงเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์และตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำสายหลักไม่ไกลจากพระราชวังมากนัก อีกทั้งเป็นสถานที่เงียบสงบไม่จอแจเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนา
วัดอินทารามเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดบางยี่เรือนอก หรือวัดสวนพลู และอีกชื่อหนึ่งคือวัดบางยี่เรือไทย จากหลักฐานที่มาเก่าก่อนเล่าว่า สาเหตุที่เรียกว่าวัดบางยี่เรือนอกนั้น เพราะเมืองเดิมของธนบุรีอยู่ที่วัดคูหาสวรรค์ (วัดศาลาสี่หน้า) จากเมืองเก่าก็ต้องมาถึงวัดราชคฤห์ก่อน จึงเรียกวัดราชคฤห์ว่าวัดบางยี่เรือใน ส่วนวัดจันทารามอยู่ตรงกลางจึงเรียกว่าวัดบางยี่เรือกลาง ถัดมาก็ถึงวัดอินทารามจึงเรียกกันว่าวัดบางยี่เรือนอก ด้วยเหตุที่สมัยก่อนวัดมักไม่มีชื่อเฉพาะทีเดียวแต่มักเรียกชื่อเอาตามสถานที่ตามแต่ความเข้าใจ จากชื่อเรียกนี้เองได้ความว่าวัดบางยี่เรือนอกได้ชื่อจากเหตุที่วัดอยู่ด้านนอกนับเอาจากเมืองธนบุรีเก่าออกมา ทำให้ทราบได้ว่าวัดได้ชื่อวัดบางยี่เรือนอกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะปรากฏว่าครั้งสมัยสมเด็จพระไชยราชาครองกรุงศรีอยุธยา คลองบางกอกใหญ่ทางป้อมวิชัยประสิทธิ์ยังคงเป็นปลายคลองอยู่ เพิ่งจะมาเป็นปากคลองเมื่อสมเด็จพระไชยราชาได้โปรดขุดลัดไปต่อกับคลองบางกอกน้อย ซึ่งส่วนที่ลัดระหว่างบางกอกน้อยกับบางกอกใหญ่นั้นถูกน้ำเซาะกว้างออกไปกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในภายหลังต่อมา
ส่วนสาเหตุที่วัดเคยมีชื่อว่าวัดสวนพลู เพราะครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ในพระราชสมบัติ ที่ดินใกล้เคียงวัดอินทารามมีคนทำเป็นนา เมื่อเลิกจากนาก็เกิดสวนขึ้น แล้วมีการทำสวนพลูขึ้นในเวลาต่อมาก็เลยเรียกกันว่าวัดสวนพลูตามสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง แต่ต่อมาสวนพลูได้กลายเป็นสวนอื่นๆ ถึงปัจจุบันกลับแวดล้อมไปด้วยบ้านเรือน ไม่มีสวนหรือที่นาหลงเหลืออยู่แล้ว
วัดใต้ ที่เรียกติดปากกันมา ได้แก่วัดบางยี่เรือใต้ เรียกตามชื่อเมืองเก่าแต่ตัดคำว่าบางยี่เรือนอก เช่นเดียวกับวัดกลางจากชื่อวัดบางยี่เรือกลาง ซึ่งก็คือวัดที่ปัจจุบันมีชื่อว่าวัดจันทาราม
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ วัดอินทารามมีชื่อว่าวัดบางยี่เรือไทย เพราะมีวัดบางยี่เรืออีกวัดหนึ่งคือวัดราชคฤห์ที่ชาวรามัญทำนุบำรุงอยู่จึงเรียกกันว่าวัดบางยี่เรือรามัญ หรือเรียกสั้นๆว่าวัดมอญ จึงพากันเรียกวัดบางยี่เรืออินทารามนี้ว่าวัดบางยี่เรือไทยตามไปด้วย
จนเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ วัดบางยี่เรือนอกได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอินทาราม นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ประวัติวัดอินทาราม
วัดอินทารามเป็นวัดอนุสรณ์สำคัญสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เพราะจากหลักฐานพงศาวดารเป็นวัดสันติสถานที่พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีประกอบพระราชกุศลบ่อยครั้ง จึงมีโบราณวัตถุเกี่ยวเนื่องกับพระองค์หลายอย่าง ที่สำคัญคือพระแท่นที่บรรทมไสยาสน์ ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ประทับแรมทรงศีลและทรงพระกรรมฐาน พระบรมรูปจำลองแบบทรงพระกรรมฐานประดิษฐานที่อยู่ในพระวิหารสมเด็จฯ พระบรมรูปทรงม้า และพระบรมรูปทรงครองเมืองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจดีย์ ๒ องค์ ด้านหน้าพระอุโบสถ ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบรมอัฐิของพระอัครมเหสี
เนื้อที่ของวัดเดิมเป็นแปลงเดียวกันตลอดทั้งวัด เมื่อการรถไฟสายมหาชัยตัดเข้ามาทางข้างหลังวัด กินเนื้อที่เข้ามาทางด้านตะวันออกจดคลองบางยี่เรือ และกรุงเทพมหานครได้ตัดถนนเข้ามาเฉียดกำแพงรอบนอกพระอุโบสถจดคลองบางยี่เรือ เพราะเหตุนี้ ที่ดินวัดจึงแยกออกเป็นสองแปลง เนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ๒ งาน เป็นที่ตั้งวัด และเนื้อที่ประมาณ ๙ ไร่ ๒ งาน ๙๐ ตารางวา เป็นที่ธรณีสงฆ์สำหรับจัดหาผลประโยชน์บำรุงวัด รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๕ ไร่เศษ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ทางวัดได้อนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างโรงเรียนหนังสือไทย สังกัดกรมสามัญศึกษาในที่ดินของวัด ซึ่งอยู่ติดกับถนนเทิดไทย จำนวนเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน
ในสมัยกรุงธนบุรีที่มีเมืองธนบุรี เป็นศูนย์กลางได้รับการสถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อราวพ.ศ. 2310 คือภายหลังที่ได้กอบกู้เอกราชได้สำเร็จหลังการเสียกรุงครั้งที่ 2นั้น การบูรณะปฏิสังขรณ์ศิลปกรรมในวัดวาอารามต่างๆทางเมืองธนบุรีจึงมีมาก
วัดที่พระองค์ทรงบูรณปฏิสังขรณ์นั้น ส่วนใหญ่อยู่ในละแวกพระตำหนัก เป็นต้นว่าวัดหงส์รัตนาราม วัดท้ายตลาดหรือวัดโมลีโลกยาราม วัดบางหว้าใหญ่หรือวัดระฆังโฆสิตาราม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดบางยี่เรือใต้หรือวัดอินทาราม ที่เป็นวัดสำคัญที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินมหาราช และอาจเรียกได้ว่าเป็นวัดประจำรัชกาล ครั้งเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อพ.ศ.2325พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชธานีทางด้านฝั่งตะวันออกคือ พระนครขึ้นแทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุนี้ศิลปกรรมต่างๆทางเมืองธนบุรีจึงขาดผู้อุปถัมภ์ดูแลและเสื่อมโทรมเป็นเวลานาน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม ขยายที่ทางไว้เป็นอันมาก ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษเพื่อใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลใหญ่ๆสำคัญหลายครั้ง เช่น งานถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชชนนีเมื่อพ.ศ. ๒๕๑๘ และโปรดมาทรงศีลบำเพ็ญกรรมฐาน นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้พระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาประจำวัดนี้และโปรดให้ข้าละอองธุลีพระบาทปฏิบัติอุปถัมภ์พระสงฆ์ทุกรูป ในสมัยกรุงธนบุรีวัดอินทารามจึงเป็นวัดที่ใหญ่และเจริญรุ่งเรืองมาก
สำหรับสถาปัตยกรรมที่วัดอินทาราม ซึ่งเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัด ระบุว่าได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่3 โดยพระยาศรีสหเทพ ( ทองเพ็ง )
ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี
ก่อนการเริ่มประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองธนบุรีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.2081-2111) เข้าใจว่าตั้งเป็นเมืองขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยถือว่าเมืองธนบุรีในสมัยอยุธยาเป็นทั้งเมืองด่านและเมืองท่าตั้งแต่แรกสร้างจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2231) และเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่2 ในพ.ศ.2310 รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมาได้ 417 ปี พม่าได้ยึดเมืองธนบุรีเป็นที่มั่นทางทะเลไว้ แต่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็ได้ทรงเข้ามากอบกู้เอกราชได้สำเร็จและได้สร้างราชธานี ณ เมืองธนบุรี โดยทำพิธีราชาพิเษภในปีเดียวกันนั้น จากที่กล่าวมาย่อมชี้ให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงสามารถรวบรวมอาณาจักรให้อยู่ที่เมืองธนบุรีเป็นระยะเวลาต่อมาได้
จากร่องรอยของชุมชนโบราณและเรื่องราวของประวัติศาสตร์เป็นตัวบ่งชี้ชัดว่า บริเวณบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกเคยเป็นศูนย์กลางของกรุงธนบุรีมาก่อน ประวัติกรุงธนบุรีนั้นเริ่มปรากฏขึ้นหลังเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่2 นับตั้งแต่พระเจ้าตากสินมหาราชสามารถรวบรวมกองกำลังและกอบกู้เอกราชมาได้สำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่ย้ายศูนย์กลางและกองทัพมาอยู่ที่เมืองธนบุรีแทนกรุงศรีอยุธยาคงเห็นว่าการที่จะตั้งพระนครที่กรุงเก่าในเวลานั้น มีกำลังไม่พอที่จะรักษาได้ ด้วยเป็นพระนครใหญ่ที่เพิ่งร้างลงใหม่ และอีกประการหนึ่งหากมีศัตรูฝ่ายทะเล เข้ามาตั้งที่เมืองธนบุรี ซึ่งมีป้อมมั่นคง การรักษาพระนครก็จะยากยิ่งขึ้น ฉะนั้นเมืองธนบุรีจึงเป็นภูมิราชธานีอยู่มาจนสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวพ.ศ.2325 เพระหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ต่อมา และย้ายราชธานีไปอยู่ทางฝั่งตะวันออก คือ พระนครแทน ทำให้สภาพบ้านบ้านเมืองกรุงธนบุรีในช่วงเวลาดังกล่าวขาดผู้อุปถัมภ์ค้ำชู โดยเฉพาะงานศิลปกรรมอันเนื่องด้วยทางศาสนา
ตลอดระยะเวลาในสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีศึกสงครามอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะช่วงเวลา 4-5 ปี แรกของการครองราชย์ ซึ่งยังคงมีกกต่างๆ ตั้งตนเป็นใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆ หลังจากนั้นเป็นศึกสงครามกับประเทศพม่า กัมพูชา รวมทั้งเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นภายในกรุงธนบุรีด้วย
ศึกสงครามกับพม่าในสมัยกรุงธนบุรีที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารและเอกสารหลักฐานจาการตีความข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ต่างๆอาจสรุปได้ดังนี้
สงครามครั้งที่ 1 (พ.ศ.2310) พระองค์ทรงตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น
สงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310) พระองค์ทรงรบกับพม่าที่บางกุ้ง
สงครามครั้งที่ 3 (พ.ศ.2313) คราวพม่าตีเมืองสวรรคโลก
สงครามครั้งที่ 4 (พ.ศ.2313) คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1
สงครามครั้งที่ 5 (พ.ศ.2315) คราวพม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1
สงครามครั้งที่ 6 (พ.ศ.2316) คราวพม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2
สงครามครั้งที่ 7 (พ.ศ.2317) คราวไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2
สงครามครั้งที่ 8 (พ.ศ.2317) คราวรบพม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี
สงครามครั้งที่ 9 (พ.ศ.2318) คราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ
สงครามครั้งที่ 10 (พ.ศ.2319) คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 3
ดังที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าในสมัยพระเจ้าตากสินฯทรงครองราชย์อยู่ที่เมืองธนบุรี ได้ทรงรวบรวมและขยายอาณาเขตออกไปรอบด้าน เพื่อรวบรวมบ้านเมืองไปปกครอง ในเวลาเดียวกันก็ปกครองดูแลบ้านเมืองให้อยู่อย่างสงบสุข ซึ่งขณะนั้นสภาพบ้านเมืองอาจไม่ปลอดภัยสำหรับพระองค์ เนื่องจากพม่ายังคงรุกรานอาณาจักรอยู่เนื่องๆ และเกิดจลาจลภายในประเทศด้วย
พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยย่อ
ตามหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ได้กล่าวถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความว่า เดิมชื่อสิน เป็นบุตรนาย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับวัดอินทาราม ธนบุรี
(เว้น 11 เซน รูปปั้นพระเจ้าตาก)
วัดอินทาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ถนนเทิดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เดิมเรียกว่า วัดบางยี่เรือนอก คู่กับวัดราชคฤห์ (วัดบางยี่เรือใน) แต่ยังมีชื่อเรียกอื่นๆอีกว่า วัดสวนพลู วัดบางยี่เรือไทย และวัดมอญ วัดนี้เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏวู้ผ็ใดสร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด ต่อมาสมัยกรุงธนบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงมาบูรณปฏิสังขรณ์ และได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลต่างๆ รวมทั้งเป็นวัดที่พระองค์ประทับแรมทรงศีลและทรงเจริญพระกรรมฐาน ดังปรากฏหลักฐานในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 ฉบับพันจันทุมาศ (เจิม)ว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศีลบำเพ็ญพระธรรม แรมอยู่พระตำหนักวัดบางยี่เรือนอก 5 เวน แล้วให้ทำกุฏิถึง 120 กุฏิ แล้วให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป และพระเจดีย์วิหาร คูริมพระอุโบสถนั้นให้ขุดลงแล้วปลูกบัวหลวง ชำระแผ้วถางให้กว้างออกไปกว่าแต่ก่อน แล้วอาราธนาพระสงฆ์ฝ่ายคณะวิปัสสนามาอยู่ ณ กุฏิซึ่งทำถวาย ให้ข้าทูลละอองฯ ปรนนิบัติแล้วเสด็จฯ ไปถวายพระราโชวาทแก่พระสงฆ์ โดยอธิบายซึ่งพระองค์บำเพ็ญได้ให้ต้องด้วยวิธี จะได้บอกบุญปฏิฯศาสนาสืบไป”
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญปรากฏในพระราชพงศาวดารต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงกรมพระพิทักษ์เทพามาตย์(นกเอี้ยง) พระราชชนนีของพระองค์เสด็จทิวงคต ได้โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเพลิงพระศพที่วัดนี้ จัดเป็นงานใหญ่ถึงสองครั้ง (พ.ศ.2318-2319)
ในเรื่องการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอินทาราม นอกเหนือจากที่กล่าวมาในสมัยกรุงธนบุรีแล้วมีหลักฐานปรากฏชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้บูรณปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ จากนั้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร โดยก่อนหน้านี้สันนิษฐานว่า วัดอินทารามคงจะได้ขาดการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแต่สมัยรัชกาลที่1 จนล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่3 และหากจะมีการปฏิสังขรณ์กันขึ้นจริง ก็คงจะเป็นเพียงบางส่วนซึ่งอาจเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น โดยมีจิตศรัทธาร่วมสร้างหรือปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ก็อาจเป็นไปได้
สถาปัตยกรรมภายในวัด ในที่นี้จะทำการศึกษาเฉพาะผังวัดทางด้านตะวันออกของวัดอินทาราม ซึ่งเป็นเขตพุทธาวาสใหม่ ส่วนอื่นๆจึงเพียงแต่กล่าวเสริมเท่านั้น
การก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์วัดอินทาราม กับเขตพุทธาวาสใหม่
การก่อสร้างในสมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดอินทาราม ได้ทรงถวายที่ดินธรณีสงฆ์ให้จำนวนมาก ทรงสร้างกุฏิเสนาสนะสงฆ์ ๑๒๐ หลัง บูรณะพระพุทธปฏิมาและพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร ให้บริบูรณ์ขึ้นทั่วพระอาราม ทรงขุดขยายคูริมพระอุโบสถไว้ปลูกบัวหลวง ถวายพระไตรปิฎก พระหีบทองคู่หนึ่งสำหรับวิธีอุปเทศพระกรรมฐาน ทรงถวายเรือโขมดยาปิดทองทึบ หลังคาบัลลังก์คาดสีสักหลาดเหลือง ๑ ลำ คนพาย ๑๐ คน พระราชทานอนุญาตให้คนพายเหล่านั้นมาเป็นปะขาวอยู่วัด และได้ทรงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาอยู่ในกุฏิที่สร้างขึ้นไว้นั้น ทรงเกณฑ์ข้าทูลละอองทุลีพระบาทให้เป็นผู้ปฏิบัติพระทุกรูป พระองค์เองก็ได้เสด็จฯถวายพระบรมราโชวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ ด้วยพระราชหฤทัยมนสิการสักการะพระบวรพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปรากฏพระบรมราโชวาทที่ค้นพบในพงศาวดารตอนหนึ่งว่า
“ขอพระผู้เป็นเจ้าจงตั้งสติอารมณ์ ปรนนิบัติตั้งอยู่ในพระจตุปาริสุทธิศีลสังวรวินัยบัญญัติบริบูรณ์ อย่าให้พระศาสนาของพระองค์เศร้าหมองเลน แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยจตุปัจจัยทั้ง ๔ ประการเป็นธุระโยนจะอุปถัมภ์ ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงมีศีลคุณบริบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว แม้นจะปรารถนามังสะรุธิระโยมๆก็อาจสามารถเชือดเนื้อและโลหิตออกมาบำเพ็ญทานได้” (คำว่ารุธิยะหมายถึงโลหิต)
ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอินทารามเป็นวัดใหญ่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เวลามีงานแต่ละครั้งก็เป็นที่ชื่นชมยินดีของไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ทั่วไป เพราะงานใหญ่ที่สนุกสนานในสมัยนั้นหาไม่ได้บ่อยนัก งานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะนำมากล่าวคือ งานถวายพระเพลิงและงานถวายสดัปกรณ์พระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนี
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงธนบุรีเสด็จกลับจากพระราชสงครามที่เมืองสระบุรี ได้โปรดให้สร้างพระเมรุขึ้นที่วัดอินทาราม เพื่อถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระราชชนนี ใช้เวลาสร้างอยู่ ๒ เดือน โดยทรงโปรดให้สร้างเป็นทรงมณฑป และมิได้ทรงใช้เจ้าหน้าทีฝ่ายตำรวจปลูกสร้างเลย โปรดเป็นรายบุคคลให้ทำกันคนละด้าน คือพระราชสงครามทำด้านเหนือ หลวงศรีกาลสมุดทำด้านใต้ พระราชสุภาวดีทำด้านตะวันออก พระเทพพี่เลี้ยงทำด้านตะวันตก
ส่วนพลับพลา โรงทิมพระสงฆ์และทิมต่างๆ โรงไว้สังเฆต โรงฉ้อทาน ร้านน้ำ โรงพิเศษ โรงศาลาลูกขุน สามช่าง ขื่อขวาง ระทาใหญ่ เฉลียงขวาง ราชวัตรทึบ สารวัตรเลว แลฉัตรเบญจรงค์ ได้เกณฑ์กรมกองต่างๆคือกรมกลาโหม กรมวัง กรมมหาดไทย กรมนครบาล กรมพระคลัง กรมพระคลังพิเศษ กรมคลังหลวง กรมคลังนา คลังฝ่ายซ้าย-ขวา กรมเมือง กรมแพ่ง กรมแพ่งกลาง กรมแพ่งเกษม กรมท่า กรมอาสาหกเหล่า สนม ทหาร พลเรือน อาสาเดโช อาสาท้ายน้ำ เป็นผู้จัดทำ
เครื่องประกอบที่กรมกองทั้งหลายได้ทำสำหรับประกอบในงานพระเมรุที่วัดอินทารามคราวนี้ มีราชวัตรทึบ ๑๔๕ ราชวัตร สารวัตรเลว ๕๔ ราชวัตร ฉัตรเบญจรงค์ ๒๐ ฉัตร ร้านน้ำ ๓๒ ร้าน โรงศาลาลูกขุน ๑ โรง สามช่างขื่อขวางเฉวียงขวางเฉลียงขวาง ๔ ทิศ ทิมพระสงฆ์ ๖ ทิม โรงฉ้อทาน ๑ โรง โรงโขนใหญ่ ๑ โรง โรงโขนระหว่างช่องระกา ๑๔ โรง โรงเทพทอง ๒ โรงไว้สังเฆต ๒ โรง
ฝ่ายราษฎร์นั้น กรมหาดไทยได้เกณฑ์ให้ช่วยกันตั้งราชวัตรฉัตรเรียงรายตามทาง ทรงมหาดไทยได้เกณฑ์ให้ฝึกซ้อมเครื่องเล่นมหรสพไว้นำมาแสดงท่าดอกไม้เพลิง และคนที่ถือดอกบัวเดินเป็นคู่ตามขบวนแห่ ให้สมทบกับทางราชการกรมสนมที่ทำเครื่องสูง แห่พระพรหมน้ำข้างขวา พระอินทร์นำข้างซ้าย ซึ่งมีเสมียนกรมวังเข้าสมทบด้วย
เมื่อได้สร้างพระเมรุเสร็จแล้ว ก็โปรดให้ชักพระศพมาสู่วัดอินทาราม ณ วัดอังคารแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม พุทธศักราช ๒๓๑๘ รุ่งขึ้นอีก ๒ วัน ก็ได้ถวายพระเพลิง คือ วันพฤหัสดีแรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ นั้น รวมเป็นเวลาประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงคราวนี้ ๓ วัน ๓ คืน มีการเล่นมหรสพต่างๆคือ
กลางวันมีโขน ๖ โรง งิ้ว ๓ โรง เทพทอง ๒ โรง รำหญิง ๔ โรง หนังกลางวัน ๒ โรง หุ่นญวน ๑ โรง หุ่นลาว ๒ โรง กลางคืนหนังใหญ่ ๓ โรง หนังใหญ่ระหว่างช่องระทา ๑๐ โรง หนังจีน ๒ โรง จัดดอกไม้เพลิงถวายพระบรมศพทั้ง ๓ คืน ซึ่งรวมดอกไม้เพลิงที่จุด ๓ คืน มีดอกไม้เพลิงระทา ๔๘ ระทา ไฟพะเนียง ๒๐๐ กระบอก เสือลากหาง ๑๒ สาย เพลิงพ้อม ๓ พ้อม สิงโตไฟ ตัว ม้าไฟ ๑๐ ตัว ดอกไม้เพลิงนิดกระถาง ขึ้นคลม้า ๑๑ ม้า
ในการประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระชนนีนาถของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังหาจุพระทัยของพระองค์ไม่ เนื่องจากเกิดศึกพม่าอะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลก ถ้าจะทำพระเมรุดีจริงๆก็เสียเวลานาน แม้ยอดพระเมรุก็ทรงให้ใช้กระดาน้ำตระกูติดแผงเอาแทนที่ดีบุก อนึ่ง ยังเป็นเวลาซุกฟ้าซุกฝนด้วยในระหว่างงานฝนตกจึงตกเป็นตอกไม้เพลิงต่างๆ จุดไม่ติดเสียเป็นอันมาก จึงปรึกษาพวกลูกขุนว่าจะเห็นควรตัดกำเหน็ดค่าดอกไม้เพลิงครั้งต่างๆจุดไมติดเสียเป็นอันมาก ถึงกับปรึกษาพวกลูกขุนว่าจะเห็นควรตัดบำเหน็จค่าดอกไม้เพลิงครั้งนี้เสียบ้างหรือไม่ พวกลูกขุนก็ทูลว่าควรลด เพราะดินปืนและของที่ทำก็เป็นของหลวง จึงได้ทรงลดเงินบำเหน็จค่าดอกไม้เพลิง และได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อบ้านเมืองสงบศึกเรียบร้อยแล้วจะถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชชนนีให้สมด้วยเป็นผู้มีบุญคุณอย่างเหลือล้น
พ.ศ. ๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้งานถวายพระราชกุศลแด่พระบรมอัฐิของกรมพระเทพามาตย์พระราชชนนีตามที่ทรงดำริไว้ ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลคราวนี้ทรงบำเพ็ญเป็นการใหญ่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลและฉลองพระเกียรติของสมเด็จพระชะนีนาถ ได้เกณฑ์กรมการหัวเมืองมาช่วยด้วย เมืองภาเหนือมีเมืองลพบุรีเมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองสรรคบุรี เมืองสุโขทัย ส่วนเมืองภาคอื่นมี เมืองชัยนาท เมืองสิงห์บุรี เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ให้กรรมการหัวเมืองเหล่านี้มาช่วยกันถางวัด ทำสะพาน ทำพลับพลาและปลูกโรงทิมสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิ นี่คือข้าราชการหัวเมืองต่างๆต้องมาทำงาน ณ วัดอินทาราม
งานนี้ได้ใช้หัวหน้าคนงานที่สำคัญทั้งตระกูลขุนนางในกรุงนอกกรุง มีเจ้าพระยา ๒ คน พระยา ๙ คน พระยา ๙ คน พระ ๖ คน หลวง ๘ คน ขุน ๑๑ คน หมื่น ๘ คน และได้แยกย้ายไปเกณฑ์คนทำงานต่างๆคอ ช่างทำบุษบกร้านม้า ๕๒ คน คนหามเสลี่ยงงา ๑๗ คน คนทำเครื่องสูง ๑๘ คน ชาวภูษาช่วยกนอีก ๒ คน คนทำทิมและทำงานเบ็ดเตล็ด ๑,๒๓๒ คน กรมกลาโหมเกณฑ์กันทำ ๕๖๒ คน กรมอาสาหกเหล่าทำทิมพระสงฆ์ ๖๓ คน กรมตำรวจปลูกพลับพลา ๒๐๓ คน พวกสมทูลข้าละอองฯ ๒๓๗ คน คอยถวายข้าวหอแก่พระสงฆ์ กรมสัสดีทำทิมประดิษฐานพระบรมอัฐิ ๑๙๙ คน กรมนครบาลเกณฑ์กันสร้างสะพาน ๑๐๕ คน มหาดไทยเกณฑ์กันถางหญ้าหน้าวัด ๒๘๗ คน ชายพายเรือขบวนแห่ ๑๔๓๙ คน หญิงพายเรือมังกุขบวนแห่ ๑๕๖ คน ชายคอยทำการในขบวนแห่ ๑,๒๓๒ คน กรมต่างๆทำราชวัตรและฉัตรใหญ่ ๖๐ คน มหาดเล็กรักษาเครื่องนมัสการ ๑๔ คน ๔ ตำรวจจุดโคมไฟ ๔ ทิศ รวมคนที่มาทำการพระราชกุศลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่วัดอินทารามครั้งนี้เฉพาะที่จดหมายเหตุเอาไว้ ๖,๐๐๐ คนเศษ
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าในสมัยกรุงธนบุรี วัดอินทารามเคยถูกให้ความสำคัญมากมายเพียงใด
เจ้านายและบุคคลสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงศพที่วัดอินทารามดังที่ปรากฏได้แก่
๑. เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก พุทธศักราช ๒๓๑๙ งานพระราชทานพระเพลิงศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ ได้ทำอยู่ ๗ วัน ๗ คืน
๒. เมื่อวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก พุทธศักราช ๒๓๑๙ งานพระราชทานพระเพลิงศพพระเจ้านราสุริยวงศ์ ได้ทำอยู่ ๓ วัน ๓ คืน
๓. เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๒๐ งานพระราชทานพระเพลิงศพพระหม่อมเจ้าเส็ง พระยาสุโขทัย และพระยาพิชัยไอสวรรค์
๔. เมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด พุทธศักราช ๒๓๒๓ งานพระศพมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสุริยวงศ์ (เจ้าฟ้าเหม็น) พระบิดาในรัชกาลที่ ๑
การก่อสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสวรรคตแล้วได้นำพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ วัดอินทาราม และเมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้เสวยราชสมบัติแล้ว ก็ทรงรับวัดอินทารามเป็นพระอารามหลวงอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากคราวพระอสุนีบาตตกที่ปราสาทเบื้องอุดรเกิดไฟไหม้ขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอราธนาพระราชาคณะทุกรูปไปวินิจฉัย ปรากฏว่าวัดระฆังโฆสิตารามมีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง และพระราชาคณะ ๑ รูป ส่วนวัดอินทารามมีสมเด็จพระราชาคณะ ๑ รูป คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เป้า) และมีพระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระธรรมมุนี และพระราชมุนี นับว่าวัดอินทารามมีพระราชาคณะมากกว่าวัดที่มีสมเด็จพระสังฆราช
การณ์เช่นนี้จึงเห็นได้ว่า วัดอินทารามยังคงอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้ยังมีหลักฐานกล่าวไว้ในลัทธิธรรมเนียมภาคที่ ๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเคยเสด็จฯพระราชทางผ้าพระกฐิน ๒ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อมีมะแม วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธศักราช ๒๓๓๐ ครั้งหลังเมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๓๓๒ จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อๆมุกรัชกาลจนถึงรัชกาลที่ ๓
ระหว่างสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ มีบันทึกกล่าวถึงสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง
ความคิดเห็น
เพราะเป็นวัดที่ไม่ได้ขึ้นกับกรมศิลป์ (ถูกแบนเนื่องจากต่อเติมซ่อมแซมอาคารโดยไม่ได้ขออนุญาต) จึงเป็นวัดที่หาข้อมูลยากมาก
ไหนๆเราก็ทำงานออกมาเล้วเลยต้องเผยแพร่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนอื่นสักหน่อย
อีกอย่างเราชอบวัดอินทาราม และชื่นชมนับถือพระเจ้าตากสินมากๆ สมัยประถมที่อ่านพระราชประวัติของท่านเป็นครั้งแรกก็ถึงกับน้ำตาไหลเลย งานนี้จึงเป็นงานที่ทำสุดใจเพื่อพระเจ้าตากสินไม่ทางตรงก็ทางอ้อมโดยที่ในใจไม่ได้คิดถึงคะแนนเลย นานๆทีเชียวนะที่เราจะทำงานโดยไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์เป็นหลัก
ขอบคุณ
ลุงลี้ คนฝั่งธนฯ
ปล.ถ้าไม่รบกวนจนเกินไปขอข้อมูลเชิงลึกทางอีเมลล์ค่ะ parana303@yahoo.com ขอบคุณค่ะ
paranya303@yahoo.com