thaisword
ดู Blog ทั้งหมด

ฝึกดาบอาทมาต ด้วยตนเอง 5

เขียนโดย thaisword

I.        ปฐมไม้ตี

เมื่อเราฝึกพื้นฐานการควงพลองสี่ท่าและ ปฐมแม่ไม้สามท่าจนคล่องเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปเราก็จะเริ่มเข้าสู่ ท่าฟัน และ ท่ากัน ซึ่งเป็นท่าทางที่ใช้ในการต่อสู้จริงๆ ของดาบเป็นลำดับต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราเรียกว่า ไม้ตี และไม้กัน

§  วงตี

เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร ผู้เขียนขอทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงศัพท์แสงที่ใช้เรียกขานกันในวงคนเล่นดาบ ซึ่งบางอันผู้เขียนก็ขอบังอาจบัญญัติขึ้นเองเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ

โดยทั่วไปไม้ตี หรือท่าฟัน โดยพื้นฐานแล้วสามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะของวงตีได้ออกเป็น 2 แบบ คือ

o   ตีนอก คือ การตีด้วยหน้ามือ forehand

o   ตีใน คือ การตีด้วยหลังมือ backhand

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นให้นึกเปรียบเทียบกับการตีเทนนิสที่มีการตีทั้ง Forehand และ Backhand ดาบก็เช่นกัน มีการตีด้วยหน้ามือและหลังมือเหมือนตีเทนนิสเช่นกัน

§  ปฐมท่าตี

คือ ท่าตีเบื้องต้น หรือท่าตีพื้นฐานที่คนเล่นดาบทุกคนต้องฝึกเพื่อจัดระเบียบท่าทางให้เข้าที่เข้าทาง เหมือนกับที่เราต้องฝึกพันหมัดในมวยไชยานั่นเอง

เราจะไขว้ดาบไปแตะหลัง แล้วฟันออกจากไหล่ทั้งสองข้างออกไปให้สุดแขนสลับซ้ายขวาไปมา เพื่อปรับลักษณะท่าทางของผู้ฝึกในการตีดาบและเพิ่มกำลังให้กล้ามเนื้อของแขน ไหล่ หรือส่วนต่างๆที่ใช้ในการตีดาบ โดยเราจะเริ่มจากการฝึกแบบปิดจังหวะที่ตำแหน่งคอก่อน เพราะเป็นท่าที่ง่ายที่สุดโดยจะตีในท่าตีบัวตูม (ฟันเฉียง 45 องศา) เพื่อสร้างทักษะก่อนฝึกในท่าอื่นในลำดับต่อไป

สำหรับคนที่น้ำหนักเกิน หรือต้องการลดรอบเอวต้องเน้นท่านี้เป็นพิเศษเพราะเป็นการออกกำลังกาย cardio แบบ Twist ที่เน้นการเคลื่อนไหวช่วงลำตัวนั่นเอง

วิธีฝึก

o   ให้ผู้ฝึกยืนเท้าห่างกันระดับไหล่ หันปลายเท้าไปด้านหน้าตั้งฉากกับลำตัว ย่อเข่าเล็กน้อย

o   ไขว้ดาบแตะหลังทั้งสองมือ

o   ตีดาบออกไปด้านหน้าให้สุดแขนในแนวเฉียง 45 องศา สลับซ้ายขวา

o   โดยเราจะเริ่มจากยืนตี แล้วเปิดส้นตี ก่อนจะเปิดส้น พร้อมกับบิดตัวตี ตามลำดับ

ทำไม้ต้องฝึก ปิด เปิด จังหวะ ด้วย

ผู้เขียนขออธิบายแบบนี้ครับ หากคนที่มีทักษะกีฬาหรือเล่นกีฬาอยู่แล้วก็จะมีความสามารถในการเลียนแบบท่าทางต่างๆ ค่อยข้างดี ทำให้สามารถทำท่าทางต่างๆ ได้ถูกต้องอย่างง่ายดาย

แต่สำหรับคนที่อ่อนเรื่องกีฬา ความสามารถทางกีฬาต่ำ ทักษะในด้านนี้ก็จะน้อยตามลงไปด้วยเป็นเงาตามตัว ดังนั้นการปิดจังหวะจะทำให้ผู้ฝึกที่ด้อยทักษะทางด้านกีฬาเข้าใจท่าทางได้ง่ายขึ้นนั่นเอง ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากลักษณะท่าทางพื้นฐานไม่แน่น ก็จะทำให้การฝึกการควง และรำ ที่เป็นขั้นสูงๆ ขึ้นไปเป็นไปของการรำดาบทำได้ยากยิ่งขึ้น

เพราะถ้าแค่ไม้ตียังตีไม่ถูกท่า เรื่องควง ก้าว ย่าง ยก รำ ไขว้ สลับมือไปพร้อมๆ กัน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง นี่ยังไม่รวมว่าเราต้องแยกประสาทซ้ายขวาจากกัน เพราะการควงบางจังหวะจะสวนทางกัน หรือบางครั้งการควง กับการตี หรือการก้าวเท้าจะคนละทิศละทางกันเลยก็มี

แบบฝึกหัด 1

o   ปฐมท่าตี วงนอก ปิดจังหวะ

o   ปฐมท่าตี วงนอก ปิดจังหวะ เปิดส้น

o   ปฐมท่าตี วงนอก ปิดจังหวะ เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 2

o   ปฐมท่าตี วงนอก เปิดจังหวะ

o   ปฐมท่าตี วงนอก เปิดจังหวะ เปิดส้น

o   ปฐมท่าตี วงนอก เปิดจังหวะ เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 3

o   ปฐมท่าตี วงใน ปิดจังหวะ

o   ปฐมท่าตี วงใน ปิดจังหวะ เปิดส้น

o   ปฐมท่าตี วงใน ปิดจังหวะ เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 4

o   ปฐมท่าตี วงใน เปิดจังหวะ

o   ปฐมท่าตี วงใน เปิดจังหวะ เปิดส้น  

o   ปฐมท่าตี วงใน เปิดจังหวะ เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 5

o   ปฐมท่าตี วงนอก พลิกเหลี่ยม เปิดจังหวะ

o   ปฐมท่าตี วงนอก พลิกเหลี่ยม เปิดจังหวะ เปิดส้น    

o   ปฐมท่าตี วงนอก พลิกเหลี่ยม เปิดจังหวะ เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 6

o   ปฐมท่าตี วงใน พลิกเหลี่ยม เปิดจังหวะ

o   ปฐมท่าตี วงใน พลิกเหลี่ยม เปิดจังหวะ เปิดส้น      

o   ปฐมท่าตี วงใน พลิกเหลี่ยม เปิดจังหวะ เปิดส้น บิดตัว


ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น