ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    นักเรียนหมอขอเมาท์

    ลำดับตอนที่ #110 : ผู้ร่วมภารกิจการก่อตั้ง โรงเรียนแพทย์วชิรพยาบาล "อาจารย์แพทย์หญิงเกยูร สถาพรพงษ์"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.86K
      4
      4 มิ.ย. 55


    ผู้ร่วมภารกิจก่อตั้ง โรงเรียนแพทย์วชิรพยาบาล
    “อาจารย์แพทย์หญิงเกยูร (ใจภักดี) สถาพรพงษ์”
     

              ก่อนอื่นต้องขอออกตัวเสียก่อนว่า จะเขียนข้อความต่อไปนี้เสมือนตัวแทนของเพื่อนร่วมงานของคุณหมอเกยูร โดยมีความประสงค์จะบอกเล่าสิ่งที่พบเห็นในการปฏิบัติราชการของคุณหมอเกยูร ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานที่วชิรพยาบาล เมื่อต้นปี พ.ศ. 2507 ในฐานะแพทย์ฝึกหัด จำได้ว่ามาพร้อมกับคุณหมอสุรางค์ กาญจนะวสิต คุณหมอดุษณี โชติเวทธำรง และคุณหมอประจักษ์ สุวรรณประทีป ซึ่งคุณหมอทั้ง 4 ท่านนี้ จบแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่สามของประเทศไทย และอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เหมือนกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณหมอทั้ง 4 นี้เป็นรุ่นแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่

     
     
              จะขอเล่าการทำงานของคุณหมอเกยูร ในขณะที่แพทย์ฝึกหัด ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นแพทย์ฝึกหัดรุ่นที่ 4 ของแพทยสภา คงต้องบันทึกไว้ตรงนี้ว่า ก่อนหน้าที่จะมีระบบแพทย์ฝึกหัด วชิรพยาบาลก็ได้แบ่งส่วนราชการคล้ายคณะแพทยศาสตร์ คือ มีสูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรม โอสถกรรม โอสถกรรมเด็ก รังสีและพยาธิวิทยา แพทย์ฝึกหัดรุ่นคุณหมอเกยูร มี 12 คน จากทั้งศิริราช จุฬาฯ และเชียงใหม่ การทำงานของคุณหมอเกยูร ในฐานะแพทย์ฝึกหัดซึ่งมีงานให้ทำอย่างมากมาย เพราะขณะนั้น วชิรพยาบาลมีแพทย์ประจำไม่เกิน 40 คน ผู้ป่วยก็มีจำนวนมาก เนื่องจากโรงพยาบาลในประเทศไทยสมัยนั้นยังมีน้อย โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครที่เป็นโรงพยาบาลหลักในสมัยนั้นประกอบด้วย ศิริราชพยาบาล วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
     
              ความรับผิดชอบและการเอาใจใส่ผู้ป่วย ความมีมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและญาติผู้ป่วย นับว่าคุณหมอเกยูรเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับความชื่นชมจากแพทย์รุ่นพี่และอาจารย์ ตลอดจนพยาบาลที่ทำงานร่วมกัน เพราะความเป็นกันเองและสนุกสนานเวลาทำงาน ไม่เกี่ยงงอน ไม่โอ้เอ้ ทำงานรวดเร็ว ทำได้ทุกอย่างรวมทั้งงานของพยาบาล (ปั้นสำลี พับก๊อซ) เมื่อทำงานครบ 1 ปี คุณหมอทั้ง 4 จากเชียงใหม่ มีโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นแพทย์ประจำวชิรพยาบาลจากทุกแผนก ไม่ว่าจะอยู่แผนกไหน (โอสถกรรม สูตินรีเวชกรรม ศัลยกรรม โอสถกรรมเด็ก) หัวหน้าแผนกก็ยินดี เรื่องนี้แพทย์อาวุโส (ส่วนใหญ่เกษียณไปแล้ว) คงจะเห็นด้วยและยืนยันได้ คุณหมอเกยูรได้รับเลือกเป็นแพทย์ประจำกองสูตินรีเวชกรรม แต่ก็สละสิทธิ์และคุณหมอทั้ง 4 ก็เลือกไปทำงานหรือเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาตามสมัยนิยมขณะนั้น
     
     
              ปี 2513 คุณหมอเกยูร กลับจากการศึกษาและฝึกงานด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้ Certified American Board of Obstetrics and Gynaecology แล้วก็รีบกลับเมืองไทยโดยไม่ได้คิดที่จะทำงานหาเงินเหมือนที่แพทย์ไทยนิยมทำกันในสมัยนั้น ไม่เคยคุยเรื่องเมืองนอกเหมือนคนอื่นๆ ไม่เปรียบเทียบการทำงานที่เมืองนอก ตลอดจนความไม่ทันสมัยของเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ คุณหมอเกยูรมาสมัครเป็นแพทย์ประจำกองสูตินรีเวชกรรม ในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งบรรดาอาจารย์แพทย์และรุ่นพี่ก็ยินดี เพราะเคยเห็นเคยรู้จักความสามารถและความรับผิดชอบสมัยที่เป็นแพทย์ฝึกหัดมาแล้ว รวมทั้งการทำงานร่วมกับพยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ความที่เป็นคนเรียบง่าย และชอบช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน จึงได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ของกองสูตินรีเวชกรรมในขณะนั้นเป็นอย่างดี โดยมีอาจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงตวงภากร์ ธรรมพาณิช เป็นผู้อำนวยการกอง
     
    ขณะนั้นกองสูตินรีเวชกรรมนอกจากจะให้บริการแก่ประชาชนผู้ป่วยตามภาระหน้าที่แล้วต้องฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดของแพทยสภาและยังให้ความร่วมมือในการฝึกทักษะและวิชาการด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาแก่นักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่เพิ่งเปิดใหม่ในขณะนั้นเพราะเหตุที่กองสูตินรีเวชกรรมมีผู้คลอดบุตรวันละ 35 คนโดยเฉลี่ยและอยู่ใกล้โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งในระยะแรกโรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยอยู่น้อยมากจึงต้องส่งนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีมาฝึกทักษะและเรียนรู้วิชาการด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาที่วชิรพยาบาล
     
    การทำงานของแพทย์ในกองสูตินรีเวชกรรมของวชิรพยาบาลขณะนั้นมีจำนวน 20 คนจะต้องทำงานหนักต้องสอนเพิ่มจากงานประจำคุณหมอเกยูรมีใจรักการสอนและติดตามการทำงานของแพทย์ฝึกหัดชนิดที่เรียกว่าตามจี้กันเฉพาะตัวเลยทีเดียวคุณหมอเกยูรไม่เคยทำคลินิกส่วนตัวเลยตลอดจนเกษียณอายุราชการด้วยความมั่นคงของครอบครัวและเป็นคนรู้จักพอด้วยเหตุนี้จึงมีเวลาให้แก่ราชการตลอดจนการดูแลการช่วยเหลือแนะนำแพทย์รุ่นน้องและลูกศิษย์

              ในปี
    .. 2518 คุณหมอเกยูรได้รับรางวัล“การปฏิบัติงานยอดเยี่ยม”เท่าที่จำได้ส่วนหนึ่งของผู้ประเมินคือแพทย์ฝึกหัดนายแพทย์วิรัตน์อนันตวณิชย์และนายแพทย์โรจน์รุ่งสุวรรณสุทธิอาจารย์แพทย์อีกท่านหนึ่งคืออาจารย์แพทย์หญิงเพ็ญศรีภังคานนท์ซึ่งต่อมาทั้ง 2 ท่านนี้เรียกว่าผูกขาด“ความเป็นอาจารย์ยอดเยี่ยม”เลยทีเดียวคงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแพทย์ฝึกหัดแต่ละรุ่นจะประเมินผลออกมาเช่นนี้ทุกปีและแพทย์ประจำของวชิรพยาบาลก็จะต้องประเมินผลการศึกษาการทำงานของแพทย์ฝึกหัดแต่ละรุ่นให้แพทยสภาเพื่อใบประกอบโรคศิลปะของคุณหมอเหล่านั้น
     
    ผลงานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คุณหมอเกยูรได้ฝากไว้ให้กับภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (ชื่อเรียกในปัจจุบัน) คือการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาของแพทยสภาโดยเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งที่ได้ช่วยอาจารย์นายแพทย์สุวัฒน์จันทรจำนงจนได้รับอนุมัติจากแพทยสภาในปี 2523 และรับแพทย์ประจำบ้านสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาเป็นสาขาวิชาที่ 2 (สาขาแรกคือสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป) ของวชิรพยาบาลและรับแพทย์ประจำบ้านสาขานี้ในปีการศึกษา 2525 (.. 200) รุ่นแรกประกอบด้วย
    1. นายแพทย์ประทีป      หาญอิทธิกุล
    2. นายแพทย์วิทยา        พรกิจประสาน
    3. แพทย์หญิงสุภากรณ์    ตั้งสุทธิชัย
     
    คุณหมอเกยูร เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่ใส่ใจในการสอนทั้งทักษะและวิชาการ จะเข้มงวดต่อลูกศิษย์ ติดตามผลการเรียนของลูกศิษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ผลสำเร็จคือแพทย์ประจำบ้านสาขานี้ของวชิรพยาบาล สอบผ่านเป็นส่วนใหญ่ และขณะนี้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาก็เป็นอาจารย์สาขาวิชานี้ ทั้งของวชิรพยาบาลและของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลายท่าน เรื่องนี้คงต้องเล่าไว้ตรงนี้ว่า แพทย์ประจำของภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มีความเห็นร่วมกันเป็นส่วนใหญ่ว่า ถ้าสองสถาบันมีตำแหน่งสูตินรีแพทย์ ก็ควรพิจารณาลูกศิษย์ของตัวเองก่อน ยกเว้นมีแพทย์จากสถาบันอื่นที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะหน่วยวิชา และนี่ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีแพทย์อิสระนิยมมารับการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขานี้ เต็มตามจำนวนที่แพทยสภาอนุมัติ แม้ตอนหลังๆ จะมีไม่ครบในบางปี เพราะมีอีกหลายสถาบันใหม่ๆ ที่เปิดการฝึกอบรมกันมากขึ้น การสอนแพทย์ประจำบ้านพร้อมๆ กับการสอนนักศึกษาแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ขึ้นศึกษาชั้นปีที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2530) เป็นภาระที่หนักพอสมควร เพราะการเตรียมการสอนและการวัดผล เป็นเรื่องที่พวกเราต้องรับการอบรมเพิ่มเติม คุณหมอเกยูรเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับคัดเลือกเป็น “อาจารย์ผู้สอนดีเด่น” ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ปีการศึกษา 2539) เนื่องจากความเอาใจใส่ลูกศิษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจังนั่นเอง
     
    ผลงานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คุณหมอเกยูรฝากไว้ให้วชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร คือ ได้ร่วมภารกิจในการก่อตั้ง “วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร” ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา โดยมีอาจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ จันทรจำนง เป็นหัวหน้า ผู้ร่วมงานที่สำคัญเท่าที่จำได้ ได้แก่
     
    1. อาจารย์นายแพทย์นคร สมบูรณ์วิทย์
     
              ขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการวชิรพยาบาล และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
    2. อาจารย์นายแพทย์บุญเลี้ยง อุกฤษณ์
              นายแพทย์ 8 สาขาศัลยกรรมกระดูก วชิรพยาบาล
    3. อาจารย์นายแพทย์มาโนชญ์ ลีโทชวลิต
     
            นายแพทย์ 8 สาขาอายุรกรรม วชิรพยาบาล ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล (นายแพทย์ 9)
    4. อาจารย์แพทย์หญิงเกยูร สถาพรพงษ์ นายแพทย์ 9 สาขาสูตินรีเวชกรรม วชิรพยาบาล
     
    ทั้ง 4 ท่านนี้ นับเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานทั้งด้านนโยบายฝ่ายการเมือง ประสานงานกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอเป็นสถาบันสมทบ รวมทั้งหาทุนทรัพย์ในการดำเนินการในส่วนที่ราชการไม่สามารถจัดสรรให้ได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ คณะผู้ทำงานทั้งหลายก็คงวุ่นวายพอสมควร ผลที่สุดได้เงินสนับสนุนจำนวน 1,837,704 บาท จากมูลนิธิวชิรพยาบาล ในสมัยที่ประธานมูลนิธิวชิรพยาบาล คือ นายแพทย์สมัย ขาววิจิตร ผู้อำนวยการวชิรพยาบาลในขณะนั้น ซึ่งผู้เขียนก็ทำหน้าที่เหรัญญิกของมูลนิธิ โดยเป็นตามข้อบังคับในการใช้เงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของวชิรพยาบาล
     
    มูลเหตุที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการจัดตั้ง “วิทยาลัยแพทยศาสตร์” ขึ้นที่วชิรพยาบาล เนื่องจากความพร้อมของ “วชิรพยาบาล” เอง และประสบการณ์ที่เคยสอนนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาตั้งแต่ปี 2528
     
    ในขณะนั้นเมื่อนักศึกษาแพทย์เรียนจบแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้ว จะต้องมาเป็นแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลของรัฐ เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเมื่อจบแพทย์ฝึกหัดแล้วจะได้รับใบประกอบโรคศิลป์ จนเมื่อแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุขได้ยกเลิกระบบแพทย์ฝึกหัด ในระบบเดิมเปลี่ยนมาเป็นระบบแพทย์ใช้ทุน เมื่อจบแพทยศาสตร์บัณฑิตไปแล้วจะต้องไปทำงานต่างจัดหวัดโดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนที่ห่างไกล เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตได้หันมาเน้นการฝึกในลักษณะคล้ายแพทย์ฝึกหัด ในชั้นปีที่ 6 ซึ่งเรียกว่า extern มีความสามารถทำงานแทนแพทย์ฝึกหัดได้ ภายใต้ความควบคุมของคณาจารย์แพทย์ โรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ จึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     
    การเปลี่ยนสภาพจากโรงพยาบาลของรัฐ เป็น “โรงเรียนแพทย์” นับเป็นผลดีต่อวชิรพยาบาลและประเทศไทย การเปลี่ยนระบบของแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุขเป็นระบบแพทย์ใช้ทุน ทำให้นักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล ได้เรียนแพทย์ในหลักสูตรลักษณะคล้ายแพทย์ฝึกหัด และพร้อมที่จะเป็นแพทย์ใช้ทุนเมื่อจบแพทยศาสตร์บัณฑิต นักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาลนับเป็นกำลังสำคัญของวชิรพยาบาล ทั้งทางด้านดูแลผู้ป่วย การซักประวัติ การเตรียมผู้ป่วย ตลอดจนการแนะนำให้ความรู้ทั่วๆ ไปแก่ผู้ป่วยและญาติ เป็นสถาบันแห่งหนึ่งที่ผลิตบัณฑิตแพทย์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับระบบสาธารณสุขไทย ส่วนอาจารย์แพทย์ก็จะต้องมีการหาความรู้เพิ่มเติมให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อการเรียนการสอนแพทยศาสตร์และเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะและวิชาการแก่นักศึกษาแพทย์
     
    เมื่อ “วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร” ได้เริ่มรับนักศึกษาวชิรพยาบาลเป็นของตนเอง และได้ร่วมเข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาแพทย์ของวชิรพยาบาล ได้ร่วมเรียนกับนักศึกษาแพทย์ศิริราชและรามาธิบดี ในชั้นปีที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในชั้นปีที่ 2 และ ปีที่ 3 เทอมต้น ได้ข้ามฟากมาเรียนกับนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ในชั้นปีที่ 3 เทอมปลาย และชั้นคลินิก ปี 4-6 ได้กลับมาเรียนที่วชิรพยาบาลเอง และเมื่อเข้าสู้ชั้นคลินิก ปี 4 – 6 ก็ยังได้ร่วมเรียนกับนักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขณะนั้น วชิรพยาบาล นับเป็นโรงพยาบาลที่สอนนักศึกษาแพทย์ 2 สถาบันในชั้นคลินิกไปพร้อมๆ กัน คือนักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาลเอง และนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จนกระทั่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีโรงพยาบาลเป็นของตนเอง ณ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก จึงได้แยกนักศึกษาแพทย์ มศว ไปเรียนชั้นคลินิก ณ โรงพยาบาลของ มศว เอง นักศึกษาแพทย์ มศว รุ่นที่ 13 นับเป็นนักศึกษาแพทย์ มศว รุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนชั้นคลินิกที่วชิรพยาบาล ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล รุ่นที่ 5
     
     ปัจจุบันวชิรพยาบาลได้ให้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของ มศว จะได้มาเรียนกับนักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาลในภาควิชาอายุรศาสตร์ กุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

              นักศึกษาแพทย์วชิรพยาบาล นับว่าเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ได้เรียนร่วมกับนักศึกษาแพทย์สถาบันอื่นอย่างหลายหลาย ทั้งนักศึกษาแพทย์ศิริราชพยาบาล รามาธิบดี พระบรมราชชนก ณ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นักศึกษาแพทย์ มศว ณ วชิรพยาบาล

     
              คณาจารย์ทั้ง 4 ท่าน ที่ได้ร่วมภารกิจก่อตั้ง “วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร” ได้ทำงานกันโดยใช้ความสามารถเฉพาะตัว เมื่อรวมกันแล้วเกิดผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะการจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต เพื่ออนุมัติทบวงมหาวิทยาลัยและแพทยสภา ให้รับรองหลักสูตรด้วยระยะเวลาอันสั้น และทุนทรัพย์ที่จำกัด หลักสูตรแตกต่างจากคณะแพทยศาสตร์ที่อื่น โดยเน้น “อาชีวเวชศาสตร์” เป็นเรื่องที่ต้องมีความอดทน ตั้งใจและจริงจังกับงานที่ได้รับมอบหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนายแพทย์นคร สมบูรณ์วิทย์ และคุณหมอเกยูรก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร” (ซึ่งเทียบเท่าคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอื่นๆ) และได้เป็นกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่งอีกด้วย
     
    การทำงานและร่วมงานด้านวิชาการและด้านบริหาร นอกวชิรพยาบาลและสำนักการแพทย์เท่าที่จำได้ คุณหมอเกยูรเป็นกรรมการในสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กรรมการราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และเป็นกรรมการร่างหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา อนุสาขามะเร็งวิทยานรีเวช เป็นอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ซึ่งโดยปกติ กรรมการของราชวิทยาลัยต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่มาจากอาจารย์ในคณะแพทย์ต่างๆ เมื่อได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ จึงถือเป็นเกียรติแก่สถาบัน และเป็นแนวทางให้แพทย์รุ่นน้องได้เดินตามทางนี้ต่อมา ในระดับชาติได้เป็นประธานร่วมในการประชุมร่วมของสูตินรีแพทย์แห่งภาคพื้นเอเชีย ในปี 2534
     
    สำหรับการบริการด้านบริการดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยนั้น ความที่เป็นคนทำงานรวดเร็ว โอบอ้อมอารี มีใจรักในการให้ความรู้ผู้ป่วย ไม่มีผู้ป่วยส่วนตัว มีแต่ญาติเจ้าหน้าที่ของวชิรพยาบาล ไม่ขับรถกลางคืนก็เลยไม่รับทำคลอดให้ใคร ไม่ชอบทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน โดยมีเหตุผลว่า พอแล้ว มีงานหลวงมากอยู่แล้ว ประกอบกับครอบครัวมีความมั่นคงและเป็นคนรู้จักพอ คุณหมอเกยูรร่วมกับอาจารย์แพทย์สุวัฒน์ จันทรจำนง ได้ร่วมกันตั้งทีมผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเรียกว่า “Wertheim’s Operation” เป็นการผ่าตัดใหญ่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูก มีสูติแพทย์น้อยคนที่ทำได้ เพราะต้องมีฝีมือ มีความละเอียด แม่นยำ และที่สำคัญก็คือต้องอดทน เพราะทำผ่าตัดครั้งหนึ่งหลายชั่วโมง จากสถิติที่ทำผ่าตัดแล้ว ทราบว่าได้ผลดี มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ไม่แพ้สถาบันอื่น ผลงานที่ทิ้งไว้อีกอย่างหนึ่งคือ การวางรากฐานหน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช พัฒนาการรักษาทั้งการผ่าตัดและเคมีบำบัด และฝึกสอนให้แพทย์รุ่นน้องสามารถตั้งทีมงานที่มีความสามารถดำเนินการต่อเนื่องอย่างมีประสิมธิภาพและประสิทธิผล ได้เขียนตำราเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก ร่วมกับอาจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ จันทรจำนง และทำการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งของระบบสืบพันธุ์สตรี ซึ่งได้ตีพิมพ์ไว้ใน “วชิรเวชสาร” หลายเรื่อง
     
    ในด้านสังคม คุณหมอเกยูรให้ความสำคัญกับงานด้านสังคม ทั้งของโรงพยาบาล ของหน่วยงานที่สังกัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของกองสูตินรีเวชกรรม ปกติจะไม่ขับรถเวลากลางคืน เมื่อเวลามีงานต่างๆ ในเวลากลางคืน ก็จะมานอนค้างที่ห้องแพทย์ บางครั้งก็ได้ช่วยเหลือแพทย์เวรรุ่นน้องทำงานไปด้วย เช้าก็ทำงานตามปกติ เคยสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล เพื่อเรียนรู้และหาแนวทางช่วยเจ้าหน้าที่ของวชิรพยาบาลในเรื่องการเงิน การไปประชุมสัมมนาในที่ต่างๆ ถ้ามีโอกาส คุณหมอเกยูรเป็นผู้หนึ่งที่ใส่ใจการหาความรู้เพิ่มเติม และเป็นการเข้าสังคมในระดับสูตินรีแพทย์กับสถาบันอื่นๆ อันเป็นทางที่จะทำให้สถาบันของตนเองเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังได้ศึกษาหาความรู้ให้ตนเอง โดยไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนได้ปริญญาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต เอกวิชาบริหารโรงพยาบาล คงทราบกันดีว่าไม่ใช้เวลาของทางราชการ แม้ในสมัยนั้นทางราชการก็ไม่ค่อยสนใจสนับสนุนอีกด้วย เนื่องจากมีความอยากรู้เรื่องการบริหาร จึงได้ไปเรียนจนจบ และก็ได้นำมาใช้ในโอกาสต่อมาในระยะหลัง ผลการทำงานของคุณหมอเกยูร ได้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป จึงได้รับคัดเลือกให้เป็น “เจ้าหน้าที่ดีเด่น” ของวชิรพยาบาล ในปี 2536
     
    นอกจากนี้ยังได้ไปดูงานแพทยศาสตรศึกษาในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ซึ่งนอกเหนือการฝึกอบรมภายในประเทศ ประกอบกับมีทักษะการปฏิบัติจริง ตั้งแต่แรกเริ่มเข้ารับราชการ จึงนับได้ว่า คุณหมอเกยูรเป็นผู้หนึ่งที่เข้าใจและรู้จริงเรื่องแพทยศาสตรศึกษา ไม่ใช่เพียงเห็นหัวข้อก็ร้องบอกว่าทำได้ เข้าใจ ง่ายนิดเดียว (เหมือนเรียนภาษาอังกฤษ)
     
    นับเป็นครั้งแรกเท่าที่จำได้ ที่ผู้เกษียณอายุราชการทำหนังสือที่ระลึกในวาระที่เกษียณอายุ เพื่อนำประวัติความเป็นมาของสถาบันที่ทำราชการ และมุ่งหวังที่จะได้เห็นพัฒนาการทุกด้านต่อไปในอนาคต การศึกษาค้นคว้าเรื่องประวัติวชิรพยาบาล เป็นสิ่งที่ยุ่งยากและขาดตอน ผู้เขียนเคยเข้าไปค้นหาประวัติบางตอน เพื่อให้ปรากฎชัดเจนในการบริหารวชิรพยาบาลแต่แรกเริ่ม ประวัติของโรงพยาบาลสามเสนที่โอนมารวมกับวชิรพยาบาลอยู่ที่ตรงไหน เดี๋ยวนี้ที่ตรงนั้นอยู่ในความครองครองของใคร มีหลักฐานอะไรเหลืออยู่ ที่หอสมุดแห่งชาติก็หาข้อมูลได้ไม่มาก เนื่องจากวชิรพยาบาลเปลี่ยนต้นสังกัดหลายครั้ง และน่าเสียดาย เอกสารต่างๆ คงถูกทอดทิ้งเสียหาย หรือยังตกอยู่แห่งหนไหนก็ไม่ทราบ คงจะมีผู้เห็นความสำคัญค้นหาติดตามมารวมไว้ การที่คุณหมอเกยูรได้มาปรึกษาว่า จะนำเรื่องประวัติวชิรพยาบาลในส่วนที่อาจารย์นายแพทย์เสนอ ตัณฑเศรษฐี รวบรวมและตีพิมพ์ในหนังสือ “วชิรเวชสาร” เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ผู้เขียนเห็นด้วยและยินดีสนับสนุน และถือโอกาสเล่าเรื่องการพัฒนาภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (ชื่อในปัจจุบัน) ไว้ด้วย การมองย้อนอดีตจะเห็นการพัฒนาสถาบันของตน เช่น อาจารย์นายแพทย์เสนอ ตัณฑเศรษฐี ได้แบ่งส่วนราชการของวชิรพยาบาลออกเป็นสาขาวิชา แบบคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น ทำให้แพทย์ที่เข้ารับราชการเป็นแพทย์เฉพาะทางไปโดยปริยาย อันเป็นการพัฒนามาจนเป็น “วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานคร” ในที่สุด
     
    เมื่อได้อ่านถึงตรงนี้ ก็ขอย้ำวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความนี้อีกครั้งหนึ่ง ต้องการให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาวชิรพยาบาลของเราต่อไป เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนผู้เจ็บป่วย และพัฒนาเยาวชนของชาติให้เข้ามาทำงาต่อจากพวกเราอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม การที่เล่าการทำงานของคุณหมอเกยูร (ใจภักดี) สถาพรพงษ์ ไว้นั้น ก็เพื่อจะสร้างขวัญและกำลังใจในการทำราชการ เมื่อมีความตั้งใจเสียสละ ใส่ใจในการหาความรู้เพิ่มเติม เป็นนักวิจัย ค้นคว้า ทำงานกันเป็นทีม เชื่อว่า ผู้บังคับบัญชาจะมองเห็นและสนับสนุน เช่น คุณหมอเกยูรเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นแพทย์หญิงคนแรกของสำนักการแพทย์และวชิรพยาบาล ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ตรวจราชการ 10 สำนักปลักกรุงเทพมหานคร คงไม่ง่ายนักที่จะได้รับเกียรติเช่นนี้ แต่สายวิชาการระดับ 10 ก็คงจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เห็นได้ในไม่ช้า ยกเว้นผู้บังคับบัญชาและผู้เกี่ยวข้องจะไม่เข้าใจ ไม่อยากพัฒนาบุคลากรซึ่งหมายถึงการพัฒนาองค์กรทางอ้อมด้วย รวมทั้งเป็นการพัฒนาการบริการแก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง สำหรับเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชาในสายสูตินรีเวชกรรม จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จากการรับราชการ 20 ปี (ถึง พ.ศ. 2535) คุณหมอเกยูรได้เลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษถึง 5 ครั้ง โดยเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน หวังว่าเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว คงจะช่วยคิดช่วยทำงานต่อเมื่อมีโอกาสที่จะพัฒนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ตามความตั้งใจเดิมเมื่อเข้ามารับราชการในวชิรพยาบาล เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา
     
    ขอโอกาสและขออนุญาตบันทึกไว้ตรงนี้ ถึงอาจาย์แพทย์หญิงภัทรา (ทองวรินทร์) คูระทอง ซึ่งเป็นแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ รุ่นที่ 2 เริ่มรับราชการเมื่อปี 2516 กองโอสถกรรม และจะเกษียณอายุราชการหลังจากคุณหมอเกยูร 1 ปี แม้คุณหมอภัทราไม่ได้ทำงานในสาขาเดียวกับผู้เขียน แต่ก็ได้ทำงานปรึกษาข้ามสาขาและพบปะพูดคุยกันนับสิบๆ ปี คุณหมอภัทราได้ไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน ได้ Diplomate American Board of Internal Medicine และหนังสืออนุมัติผู้มีความรู้ความชำนาญประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาอายุรศาสตร์โรคไตของแพทยสภา ความที่คุณหมอภัทราเป็นผู้โอบอ้อมอารีต่อผู้ป่วยและญาติ และเป็นผู้มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสไม่เฉพาะผู้ที่อยู่ในสาขาเดียวกัน เป็นนักวิชาการ มีคุณสมบัติเป็นครูอาจารย์ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่แพทย์รุ่นน้อง ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ได้ทำงานในตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ ฝ่ายการศึกษาแพทย์” ทำงานบริหารของวิทยาลัยฯ และบริหารการศึกษา จนได้รับโล่ “ผู้บริหารการศึกษาดีเด่น” ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ปี 2542 เท่าที่ติดตามผลงานของคุณหมอภัทรา ทราบว่าเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป เมื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหาร ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะความอดทน และทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจังและจริงใจตลอดมา ผลงานที่โดดเด่นคือ การพัฒนา “หน่วยโรคไตเทียม” ให้ก้าวหน้า และเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยได้ทัดเทียมกับสถาบันอื่นๆ
      
     
    ข้อความที่เขียนมานี้ เขียนจากความทรงจำ ผู้เขียนขอรับคำทักท้วงและคำแนะนำเพิ่มเติม เพราะวชิรพยาบาลของเราจะมีอายุ 90 ปี 100 ปี อีกในไม่ช้า หวังว่าการเพิ่มเติมประวัติของ “วชิรพยาบาล” และการพัฒนาทั้งด้านบริการ ด้านวิชาการ ตลอดจนการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข จะได้มีคณะรวบรวมไว้ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาต่อไปข้างหน้า และให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของของพระผู้สถาปนา “วชิรพยาบาล” อันเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ในประเทศไทย และเป็นโรงพยาบาลประจำรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2455
     
     
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×