valerie[เธงเธดเธฌเธฒเธฃเธต]
ดู Blog ทั้งหมด

บัลลังก์สายหมอก

บัลลังก์สายหมอก
โลกที่สาม Strike Back




หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเมืองโลกถูกแบ่งขั้วค่ายชัดเจนว่า ประเทศเสรีนิยม ทุนลื่นไหลเสรี มีประชาธิปไตย คือ "ประเทศโลกที่หนึ่ง" ขณะที่ค่ายคอมมิวนิสต์ทั้งหลายคือ "ประเทศโลกที่สอง" ส่วนประเทศอื่นๆ ซึ่งเพิ่งพ้นภาวะอาณานิคมตกอยู่ในสถานะ "ประเทศโลกที่สาม" คือไม่มีขั้วค่าย มีแต่มุ่งหน้าพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองตัวเองให้ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว (โลกที่หนึ่ง=ประเทศพัฒนาแล้ว)
++++++++++++++++

เกริ่นเสียเป็นทฤษฎีน่ากลัว แต่จริงๆ ก็แค่จะพาเข้าเรื่องว่า  "บัลลังก์สายหมอก" นิยายที่เรากำลังจะพูดถึงครั้งนี้ซึ่งว่าด้วยนางเอกซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ในไทย ที่ได้เดินทางไปพบรักกับกษัตริย์หนุ่มใหญ่แห่งสีหสถาน ประเทศในหุบเขาแถบหิมาลัย ก็คือเรื่องราวการเดินทางไปสำรวจความโรแมนติกแบบประเทศโลกที่สาม ที่แม้ภายอกจะดูไม่ทันสมัย ไม่พัฒนา ประชาชนล้าหลัง แต่มีคุณค่าทางจิตใจงดงามอย่างที่ประเทศโลกที่หนึ่งก็ไม่อาจเทียบเท่า(ทีเดียวนะจ๊ะ)

นิยายแนวไพรัชนิยายที่ว่าด้วยนางเอกเป็นคนไทย ได้เดินทางไปดินแดนต่างวัฒนธรรมนั้นก็มีหลายเรื่องหลายยุคสมัย แต่นี่เป็นเรื่องที่เราอ่านแล้วรู้สึกได้เลยว่า นักเขียนรุ่นใหม่กำลังสร้างขนบใหม่ๆ กับเรื่องแนวไพรัชนิยายบ้างเสียแล้ว เมื่อวรรณวรรธน์ ผู้เขียนได้วางฐานะของ มัสฤน นางเอกของเรื่องเดินทางไปในประเทศโลกที่สาม ด้วยสายตาและสถานะดุจเดียวกับประชากรจากโลกที่หนึ่ง ซึ่งเจริญแล้ว พัฒนาแล้ว เต็มตัว  การเดินทางของมัสฤนครั้งนี้จึงได้มอบทัศนียภาพที่มัสฤนประทับใจเมื่อพบเห็น (อาทิ คนสวดมนต์ทุกเมื่อเชื่อวันกันทั้งประเทศ ท้องทุ่ง คณะสงฆ์เป็นพะเรอเกวียน) อย่างกับว่าภาพของความล้าหลังแบบนั้น...มันไม่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทยให้เธอเห็นยังไงยังงั้น

เรื่องย่อของบัลลังก์สายหมอกก็คือ พระนางซูรี ราชินีของกษัตริย์ฎอร์เจแห่งสีหสถานกำลังป่วยใกล้สิ้นพระชนม์ และทรงร้องขอสวามีมารักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศไทย  มัสฤน หมอสาวชาวไทยจึงได้พบกับองค์ฎอร์เจ กษัตริย์ที่ว่ากันว่าทรงหลบหลีกนักข่าวจนโลกแทบไม่รู้จัก แต่เธอรู้จักเขาในฐานะชายหนุ่มชื่อ "กาโช" เมื่อพระนางซูรีสิ้นพระชนม์ในโรงพยาบาล องค์ฎอร์เจจึงต้องเฝ้าห้องที่ย้ายพระศพออกไปแล้วตามประเพณีสีหสถาน นางเอกจึงเป็นห่วงเอาน้ำผลไม้ไปให้  ต่อมาในงานปลงพระศพพระนางซูรี มัสฤนได้เดินทางมาสีหสถานเพื่อร่วมงานเป็นตัวแทนพ่อของเธอที่ไม่ว่าง  เธอได้พบ "คุณกาโช" อีกครั้ง และครั้งนี้เขาได้ขอให้เธอมารักษาลูกสาวของเขา "เจ้าหญิงอูลูน่า" ซึ่งเป็นโรคหัวใจ โดยระหว่างนั้นก็มีการนำเที่ยวสีหสถานชนิดถึงท้องถิ่น (ประมาณท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์)

มัสฤนพบกับหมอฟานบิเอโก้ อดีตกิ๊กเก่า ทำงานเป็นหมอให้ราชวงศ์ แต่หมอฟานบิเอโก้ก็มีฉากหลังที่ช่วยพวกชนกลุ่มน้อยสิมปาลี และพยายามดิสเครดิตราชวงศ์พระเอกซึ่งไม่กินเส้นกับชนกลุ่มน้อย  หมอฟานบิเอโก้คนนี้เองที่มักให้ข้อมูลด้านลบของสีหสถาน ว่ามันไม่ได้สวยงามอย่างที่เธอเห็น โดยเฉพาะกษัตริย์เผด็จการอย่างองค์ฎอร์เจ  จนสุดท้ายนางเอกก็ได้เห็นธนบัตรสีหสถานที่มีรูปของ "คุณกาโช" มันทำให้เธอช็อคเมื่อรู้ว่าหนุ่มใหญ่ที่แสนอ่อนโยน คือคนเดียวกับราชาเผด็จการคนนั้น (ซึ่งน่าครั่นคร้ามสำหรับคนไทยที่มาจากประเทศ "เจริญ" แล้วอย่างเธอ)

แต่สุดท้าย เมื่อองค์ฎอร์เจถูกนายพลต่างชาติป้ายสีด้วยวิธีสกปรก เพื่อบังคับให้สีหสถานเปิดประเทศ (รับทุนเสรี) มันก็กลายเป็นว่ามัสฤนกลับเห็นใจและเข้าใจวิถีแห่งสีหสถาน ซึ่งแม้จะดูเหมือนพระองค์เป็นผู้นำเผด็จการ แต่นั่นคือเผด็จการโดยการมองจากสายตาชาวตะวันตก เป็นเพียงเผด็จการโดยรูปแบบ แต่เนื้อหาแล้วเอื้ออาทรยิ่งกว่าประชาธิปไตยจอมปลอม (เหรอ?)

ดังนั้นนิยายเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยบทวิพากษ์ "ความเจริญ ความทันสมัย การพัฒนา" ที่ประเทศโลกที่สามถูกบังคับขืนใจโดยประเทศโลกที่หนึ่ง และยืนยันถึงสิทธิที่จะแตกต่างของประเทศเล็กๆ ประชากรแค่ล้านเศษ (น้อยกว่าลาวอีกนะนั่น) โดยไม่ยอมให้องค์กรฝรั่งมาตัดสินใจด้วยคำว่า "สิทธิมนุษยชน"  เอาเข้าจริง เราว่ามันก็คือแนวคิดของคนไทยเองด้วย ในฐานะที่เราก็เคยถูกกระทำด้วยอดีตการเป็นโลกที่สาม แต่สิ่งนี้ถูกพูดออกมาจากปากของคนที่น่าเชื่อถืออย่างองค์ฎอร์เจ จึงทำให้เราเกือบเคลิ้มตามได้ง่ายดาย

เมื่อลองกลับไปดูผลงานเรื่องก่อนของวรรณวรรธน์ ซึ่งเราก็เคยได้อ่านแค่เรื่อง "อัสวัด" มาก่อนแค่นั้น เราพบว่ามีความแตกต่างอย่างสำคัญก็คือ คราวนี้ชาวตะวันตก/ความทันสมัย/โลกาภิวัตน์ ถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้ายไปเสียแล้ว  ในเรื่องอัสวัดนั้น พระเอกเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น นางเอกเป็นคนไทยแท้และเป็นนักข่าวของสำนักข่าวฝรั่ง ซึ่งทำให้ชาวอัคไบยาห์ในเรื่องไม่ยอมรับทั้งคู่เพราะเป็น "ต่างชาติ" ที่จะนำความมัวหมองมาให้ประเทศ แต่สุดท้ายชาวอัคไบยาห์เองนั่นล่ะที่ทำร้ายอัสวัดอย่างสกปรก ด้วยความงมงายล้าหลังคลั่งชาติ สุดท้ายอัสวัดเลยต้องยึดอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการเสียเอง  ในขณะที่นิยายเรื่องล่าสุดนี้ ขั้วค่ายถูกเปลี่ยนสลับ เมื่อความอนุรักษนิยม/งมงาย/ท้องถิ่นนิยม กลายเป็นฝ่ายของพระเอก (และนางเอกซึ่งต่อมาก็ชื่นชม "วิถีแห่งสีหสถาน" ด้วย) ขณะที่องค์กรต่างชาติ/สิทธิมนุษยชน/ทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นของนำเข้าต่างหากกลายเป็นฝ่ายร้าย

อันที่จริงแนวคิดทวนกระแสการพัฒนาโดยตะวันตกแบบนี้หาได้ไม่ยากเลย ฝ่ายก้าวหน้าในไทยก็พูดจนปากเปียกปากแฉะมาแล้ว แต่ในบรรดานิยายแนวตลาดเนี่ย...เราคิดว่าแนวคิดแบบนี้เกิดได้ไม่นาน เอาแค่ช่วงทศวรรษ 2530 (2531-2539) นางเอกนิยายของทมยันตียังเรียกร้องให้องค์กรฝรั่งมาช่วยประเทศพระเอกที่ถูกกบฏโค่นราชวงศ์อยู่เลย (แต่แปลกนะ นางเอกทมยันตีด่าปาวๆว่า ประเทศเพื่อนบ้านของพระเอกละเมิดกิจการภายในโดยการสนับสนุนกบฏที่โค่นราชวงศ์พระเอก [ในบริบทสงครามเย็น ประเทศเพื่อนบ้านที่ทมยันตีด่าก็คือจีนแดงและคอมมิวนิสต์เวียดนาม] แต่ที่นางเอกทำน่ะมันก็คือการขอให้ประเทศตะวันตกมาแทรกแซงชัดๆ ไม่ต่างกันเลย แต่ทำไมพอนางเอกทำมันดันกลายเป็นสิ่งถูกได้หว่า??) แต่ล่วงมาปี 2550 องค์กรฝรั่งกลายเป็นคนที่เชื่อไม่ได้ไปเสียแล้วสำหรับงานเขียนกระแสหลัก

อันที่จริงมีคำอธิบายในวงสังคมศาสตร์เหมือนกันว่า หลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 คนไทยเริ่มมองเห็นความเลวร้ายของระบบเศรษฐกิจเสรีที่ฝรั่งยัดเยียดมากขึ้น ความรู้สึกเหล่านี้อาจตกผลึกจนในบัดนี้.. เราจึงเริ่มเห็นนิยายด่าฝรั่งเข้าให้แล้ว  ทั้งบรรยากาศบ้านเมืองเราก็กำลังถดถอยทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เราก็ถูกพร่ำบอกว่านี่คือ "ความพอเพียง"  สิ่งเหล่านี้ล้วนเอื้ออำนวยกับการสร้างภาพให้ความล้าหลังอย่างประเทศโลกที่สามกลายเป็นภาพที่โรแมนติกขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเราเป็นคนชอบความทันสมัย เราจึงไม่ใคร่เชื่อบทบรรยายและบทพูดของฝ่ายพระเอกนัก น่าแปลกที่เราสนใจบทพูดยาวเหยียดจากหมอฟานบิเอโก้ ที่ว่านี่เป็นประเทศของคนหัวเก่า ไม่ยอมรับความจริง ประชาชนยากจนข้นแค้นแต่ก็ยังบูชาราชวงศ์ที่ร่ำรวยสุขสบาย มีเด็กรุ่นใหม่ของสีหสถานที่ไม่ชอบรูปแบบความพอเพียงแบบนี้ด้วยซ้ำ น่าเสียดายที่ข้อความพวกนี้ออกมาจากปากหมอฟานบิเอโก้ ซึ่งเป็นตัวละครกึ่งร้ายกึ่งดี ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงไปกว่าครึ่ง ทั้งที่มันก็สะท้อนอีกภาคส่วนของสีหสถานออกมาได้เป็นอย่างดี  เพราะเราเองก็สงสัยว่า หากเราเกิดเป็นคนสีหสถาน เราจะพอใจกับ "ความพอเพียง" แบบนั้นเหรอ? เราจะยอมได้ไหมกับการนับถือกษัตริย์ชนิดมองพระวรกายก็ไม่ได้ พันเครื่องนุ่งห่มแบบราชวงศ์ชั้นสูงก็ไม่ได้เดี๋ยวโดนกุดหัว ในเมื่อเราได้รับรู้แล้วว่าโลกทั้งโลกเขากำลังหมุนไปทางไหน และเราก็ชอบวิถีที่โลกทั้งโลกกำลังเป็นเสียด้วย อย่างน้อยเราก็ได้ฟัง Linkin Park ได้ดูอนิเมญี่ปุ่น ได้เห็นบอยแบนด์เกาหลีที่เรากรี๊ด

ประเด็นเรื่องสถานะของนางเอกก็นับว่าน่าคิด ทั้งนี้เคยมีนักวิจารณ์วรรณกรรมได้ศึกษานิยายแนวคล้ายๆแบบนี้ ของกิ่งฉัตร เรื่อง "เสราดารัล" และได้อธิบายถึงสถานะนางเอกผู้มีชาติพันธุ์ไทยอย่างน่าสนใจ นั่นคือนางเอกชาวไทยเมื่อไปประเทศเพื่อนบ้านที่ขึ้นชื่อว่าด้อยพัฒนากว่าแล้ว สถานะของเธอจะสูงส่งเทียบเท่าเจ้าหญิงทีเดียว  (ใน "เสราดารัล" พันไมล์ สามารถเป็นคู่แข่งในเรื่องความรักกับเจ้านางสิกกาได้ ทั้งที่ในเมืองไทยเธอเป็นสามัญชน)  แต่เราคิดเพิ่มเติมว่าอีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือจากชาติพันธุ์นั่นก็คือชนชั้นอยู่ดี (อย่าลืมว่าพันไมล์เป็นลูกนักการทูต ไม่ได้ต่ำต้อยเลย)  เมื่อมาดูมัสฤนแห่ง "บัลลังก์สายหมอก"  บ้างก็พบว่า เธอเป็นชาวไทย ลูกเจ้าของโรงพยาบาลซึ่งก็คือไฮโซคนหนึ่ง สถานะของเธอสูงส่งจนแม้แต่องค์ฎอร์เจยังพะวงด้วยซ้ำว่า เธออาจรับไม่ได้กับพระองค์และความล้าหลังของแผ่นดินสีหสถาน  นี่ขนาดพระเจ้าแผ่นดินนะเนี่ยยังเกรงใจนางเอกซึ่งเป็นสามัญชนจากต่างแดนขนาดนี้

หากทว่า...เมื่อตัดอารมณ์การอ่านแบบหาเรื่องซึ่งเรามักเป็นบ่อยๆ "บัลลังก์สายหมอก" ก็ให้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแถบประเทศหิมาลัยได้ดีทีเดียว  นอกจากนั้นความหวานละมุนของปลายปากกาของวรรณวรรธน์ก็เชื่อถือได้ว่าอ่านแล้วต้องเคลิ้ม เพราะเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ทำการบ้านมาดีมาก โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่คนเขียนจบมาด้านนี้โดยตรง ทำให้นิยายเรื่องนี้นอกจากโรแมนติกสุดๆ แล้วยังมีความหนักแน่นของข้อมูลผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และเราคาดเดาว่าขณะที่เขียน วรรณวรรธน์เองก็คงมีความคิด 2 ขั้วที่ดึงดันกันอยู่ นั่นคือขั้วเชียร์วิถีเอเชีย วิถีสีหสถาน วิถีความพอเพียง แต่ในขั้วหนึ่งซึ่งจ้อยกระจิริด ผู้เขียนก็ยังเว้นพื้นที่ให้กับความกังขาว่า ความพอเพียง ล้าหลัง เวบไซต์โดนบล็อค ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ประชาชนต้องการจริงหรือ ถึงแม้ว่าแง่มุมเหล่านี้จะนำเสนอแบบแซมๆ พอเป็นกระสายก็ตาม

ความจริงนับตั้งแต่ได้เห็นนิยายเดบิวของวรรณวรรธน์ เราก็มองๆ แล้วว่าเธอน่าจะเป็นมืออาชีพได้ไม่ยาก และไม่กี่ปีต่อมา ด้วยผลงานที่ยังน้อยชิ้น วรรณวรรธน์ก็ทำอย่างนั้นได้จริงๆ ตอนนี้น่าจะเรียกได้ว่าเธอเป็นมืออาชีพคนหนึ่งแล้วในวงการ ฐานคนอ่านของเธอก็ไม่น้อยแล้วในตอนนี้  แต่เสียดายนิดเดียว...มีผลงานกับสำนักพิมพ์นี้....อย่างเล่มนี้มีบางอย่างผิดพลาด ไม่ใช่ทางอักขระ แต่เป็นด้านบริบทเนื้อหา ทางสำนักพิมพ์น่าจะช่วยแก้ไขได้ แต่คนมีฝีมือระดับวรรณวรรธน์...อยู่ที่ไหนยังไงผลงานก็ยังน่าสนใจอยู่ดี

จับผิดทิ้งท้าย ที่เราบอกว่าผิดพลาดทางเนื้อหาบริบทน่ะ

-ประโยคแรกของเรื่องเลยบรรยายว่า "รถยนต์คันกลางเก่ากลางใหม่" แต่พอไม่กี่บรรทัดต่อมา รถนางเอกกลายเป็น "รถยนต์คร่ำคร่า" ไปแล้ว ตกลงมันเก่ามากหรือเก่าๆใหม่ๆ

-หน้า 20 บอกว่านางเอกหยิบน้ำผลไม้กระป๋องมาจากตู้เย็น แต่พอเอาไปให้พระเอก ไหงน้ำผลไม้กระป๋องแปลงร่างเป็นน้ำกล่องไปแล้ว? พระเจ้าช่วยกล้วยทอด

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
เขียนได้น่าสนใจมากเลยค่ะ

ขอตินิดเดียว พื้นหลังรูปนี้กับตัวหนังสือสีนี้มันมองไม่เห็นน่ะค่ะ พยายามจะคลุมตัวหนังสืออ่านก็คลิกลากไม่ได้ ต้องดับเบิลคลิกอ่าน ค่อนข้างทุลักทุเลทีเดียว

แต่สำหรับตัวข้อเขียน ให้คะแนนเต็มสิบเลยค่ะ
ความคิดเห็นที่ 2
ได้อ่านแล้วซึ้งมากๆ เลยค่ะ