Q : สาเหตุของโรคเบาหวานในแมวคืออะไร?

A : 1. โรคเบาหวานในแมวเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน คือไม่สร้างอินซูลิน และ 2. ตับอ่อนไม่ได้ผิดปกติหรอก สร้างอินซูลินปกตินั่นแหละ แต่ร่างกายไม่เอาไปใช้เองซะงั้น 3. โรคอ้วน

Q : แล้วอินซูลินมันคืออะไร สำคัญยังไงล่ะ?

A : หน้าที่ของอินซูลินคือช่วยให้น้ำตาลในเลือดเข้าไปสู่เซลล์ต่างๆของร่างกาย เป็นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำให้รถวิ่งได้นั่นเอง ซึ่งน้ำตาลนี้จะทำหน้าที่เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานเพื่อใช้ในการเผาผลาญไขมันในร่างกาย

Q : ถ้าร่างกายมีอินซูลินมากเกินหรือน้อยเกินจะเกิดอะไรขึ้น?

A : ถ้ามีอินซูลินมากเกินไป ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะต่ำ(เพราะผลักน้ำตาลเข้าเซลล์ตลอด) ทำให้หิวตลอดแต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วนซะที เผลอๆจะน้ำหนักจะลงด้วยซ้ำนะเนี่ย แต่ถ้ามีอินซูลินน้อยเกินไป ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงปรี๊ด เพราะไม่มีอินซูลินที่จะผลักน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ ในเมื่อรถไม่ได้เติมน้ำมันแต่อยากจะวิ่งอ่ะทำไง ก็ต้องไปหาน้ำมันจากที่อื่นแทน

ดังนั้นแทนที่จะเอาคาร์โบไฮเดรตมาใช้ ก็ไปเอาพลังงานจากไขมันมาแทนก็แล้วกัน แต่นอกจากจะได้พลังงานมาแล้ว ยังได้สารคีโตนแถมมาด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดเป็นกรด นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดโรคไตอีกด้วยเนื่องจากไตจะทำงานหนักขึ้นเพื่อขับน้ำตาลออกจากร่างกายนั่นเอง

Q : อาการของแมวที่เป็นเบาหวานเป็นยังไงล่ะ?

A : ระยะแรก แมวจะกินอาหารเยอะขึ้น แต่หลังจากนั้นจะกินอาหารน้อยลง ฉี่บ่อย กินน้ำเยอะ น้ำหนักลด อาเจียน อ่อนแอ หายใจลำบาก ลมหายใจมีกลิ่นเหมือนผลไม้ ไม่มีแรง เซื่องซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง เวลาเดินสังเกตที่ขาหลัง แมวจะใช้ข้อเท้าเดินแทนนิ้วเท้า มองง่ายๆก็ขาหลังจะเหมือนเดินกะเผลกๆนั่นเอง การตรวจหาว่าแมวของเราเป็นเบาหวานหรือเปล่าก็ทำได้เองที่บ้านนะ

แบบแรกคือใช้อุปกรณ์เจาะเลือดที่ใบหูเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด คล้ายอุปกรณ์ตรวจหาเบาหวานในคน ส่วนแบบที่สองคือตรวจน้ำตาลในฉี่ โดยจะเป็นแผ่นกระดาษ หลังจากที่แมวฉี่เสร็จแล้วเราก็เอาแผ่นกระดาษไปจิ้มลงในฉี่ แล้วตรวจดูสีของกระดาษที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะมีบอกอยู่ในบรรจุภัณฑ์ว่าสีไหนมีระดับน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน

Q : วิธีการรักษาโรคเบาหวานในแมวเป็นอย่างไร?

A : 1. วิธีการรักษาโรคเบาหวานในแมว คือ ควบคุมอาหาร โดยให้อาหารที่มีโปรตีนสูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ และให้ในปริมาณที่เท่ากันทุกวัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ หรือให้อาหารสำหรับแมวที่เป็นเบาหวานโดยเฉพาะ แนะนำให้เป็นอาหารเปียก เพราะในอาหารเม็ดนั้นจะมีส่วนผสมของแป้งมากกว่าเพื่อให้คงรูปเป็นเม็ดนั่นเอง

2. ฉีดอินซูลิน ซึ่งปริมาณของอินซูลินที่ฉีดนั้นจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของแมวและระดับน้ำตาลในเลือดในขณะนั้น (เราไม่สามารถรู้ได้ว่าตอนไหนระดับน้ำตาลเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุผลว่าเราควรให้ปริมาณอาหารเท่าเดิมในทุกวันเพื่อควบคุมให้ปริมาณน้ำตาลเท่ากันทุกวัน ซึ่งจะได้ฉีดอินซูลินในปริมาณที่เท่าเดิมทุกวันค่ะ)

Q : ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานของแมวเป็นยังไงบ้าง?

A : โรคเบาหวานจะพบได้ 1 ใน 400-500 ตัว แมวตัวผู้จะมีความเสี่ยงถึง 2 เท่า แมวที่มีอายุมากกว่า 10 ปี แมวที่มีน้ำหนักมากกว่า 15 ปอนด์ หรือ 6.8 กิโลกรัม แมวที่เป็นโรคอ้วน แมวที่ได้รับยาบางชนิดก็อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนไปได้เช่นยาในหมวดสเตียรอยด์