thaisword
ดู Blog ทั้งหมด

ฝึกดาบอาทมาต ด้วยตนเอง 3

เขียนโดย thaisword

I.        ควงพลอง 4 ท่า

ในการฝึกดาบนั้น การควงพลองนับเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการฝึกดาบ ซึ่งในแถบเอเชียอาคเนย์นั้นจะมีพื้นฐานการฝึกคล้ายๆ กัน

§  จุดประสงค์ของการฝึก

o   เป็นการ Warm up เพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัว สำหรับการฝึกดาบในทักษะขั้นสูงๆ ขึ้นไปอีก 

o   เพื่อฝึกความคล่องตัวของมือ ทำให้เกิดความคุ้นเคยในการใช้มือกับดาบให้ประสานสัมพันธ์กัน

o   เพื่อฝึกการแยกประสาทมือซ้ายขวาให้สามารถทำงานเป็นอิสระจากกัน

o   เพื่อฝึกความสัมพันธ์ของมือ กับประสาทสั่งงาน ให้เป็นไปตามที่เราต้องการ

o   เพื่อฝึกทักษะความสัมพันธ์ในการใช้มือและดาบ

§  ประโยชน์ที่ได้รับ

o   เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ มือและแขน

o   ป้องกันโรคนิ้วล๊อค เพราะเมื่อเราควงพลองก็เท่ากับเป็นการบริการมือและข้อมือไปในตัวนั่นเอง

o   ป้องกันโรคอัลไซเม่อร์ เพราะในขณะที่ควง สมองก็จะต้องคอยสั่งการให้เราควงพลองกลับไปกลับมาในลักษณะตามเกล็ดและย้อนเกล็ดที่ตรงข้ามกัน และยิ่งเมื่อควงสลับมือตรงข้ามกันพร้อมกัน สมองก็ต้องแยกประสาททำงาน ทำให้เป็นการออกกำลังสมองไปในตัวนั่นเอง และยิ่งเมื่อมีการไขว้มือ สมองก็ต้องทำงานซับซ้อนมากขึ้นไปอีก

 

ซึ่งแม่ไม้ควงพลองสี่ท่านี้ จะประกอบไปด้วย

o    แข่งแสงสูรย์

o    พิรุณร้องไห้

o    นารายณ์ขว้างจักร

o    และ ไอยราฟาดงวง

§  แข่งแสงสูรย์

แข่งแสงสูรย์ ถือเป็นไม้ควงพื้นฐานท่าแรกที่ใช้ในการฝึกการควงพลอง โบราณนั้นจะมีแค่ท่าหลักเพียงท่าเดียว แต่เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกสำหรับผู้ที่เริ่มต้นหัดใหม่ๆ ผู้เขียนขอแยกออกเป็นลูกไม้ต่างๆ ที่ง่ายต่อการฝึกดังนี้

o    เบิกฟ้า

o    ตะวันฉาย

o    ตะวันส่อง

o    ตะวันคู่

§  เบิกฟ้า

เราจะเริ่มต้นจาก แบบฝึกหัดที่หนึ่ง คือ การฝึกควงพลอง กลับหน้า กลับหลัง ซึ่งในภาษาดาบเรียก การควงไปข้างหน้าแบบนี้ว่า ตามเกล็ด และเรียกการควงมาด้านหลังเข้าหาตัวว่า ย้อนเกล็ด

(หากนึกไม่ออก ให้นึกถึงว่าเรายกตัวปลาตั้งหัวขึ้น เมื่อเราฟันลงตามตัวปลาก็จะเป็นตามเกล็ด และฟันย้อนขึ้นหัวปลาก็จะเป็นย้อนเกล็ดนั่นเอง)

ซึ่งจะสามารถแบ่งลูกไม้สำหรับฝึกออกเป็นลูกไม้ต่างๆได้ดังนี้

ตามเกล็ด สลับมือ

เริ่มต้นจากถือพลองขนานกับพื้นอยู่ข้างลำตัวทั้งสองมือ แล้วให้เริ่มควงพลองไปข้างหน้าในลักษณะ ตามเกล็ด แบบ ปิดจังหวะ ทีละรอบ โดยสลับซ้ายขวา เป็นชุดๆ ชุดละ 10 20 หรือ 30 แล้วแต่กำลังความสามารถ เมื่อเริ่มมีทักษะแล้วให้เปลี่ยนเป็น เปิดจังหวะ ต่อเนื่องกันไปเป็นชุดๆ เช่นกัน จนเกิดความชำนาญ  

แบบฝึกหัด 1

o   ตามเกล็ด สลับมือ ปิดจังหวะ

o   ตามเกล็ด สลับมือ เปิดจังหวะ

ย้อนเกล็ด สลับมือ

เริ่มต้นจากถือพลองขนานกับพื้นอยู่ข้างลำตัวเช่นเดียวกบแบบตามเกล็ด สลับมือ จากนั้นควงพลองไปข้างหลังในลักษณะ ย้อนเกล็ด แบบ ปิดจังหวะ ที่ละรอบ สลับซ้ายขวา เป็นชุดๆ ชุดละ 10 หรือ 20 แล้วแต่กำลังความสามารถ เมื่อเริ่มมีทักษะแล้วให้เปลี่ยนเป็น เปิดจังหวะ ต่อเนื่องกันไปเป็นชุดๆ เช่นกัน จนเกิดความชำนาญ  

แบบฝึกหัด 1

o   ย้อนเกล็ด สลับมือ ปิดจังหวะ

o   ย้อนเกล็ด สลับมือ เปิดจังหวะ

ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด สลับมือ

หลังจากเราฝึกควง ตามเกล็ด และย้อนเกล็ด แยกกันจนควงแล้ว คราวนี้เราจะรวมลูกไม้ทั้งสองท่าเป็นท่าเดียวกัน ด้วยการควงพลองไป ข้างหน้าและข้างหลังในลักษณะตามเกล็ด และย้อนเกล็ด แบบปิดจังหวะที่ละรอบ สลับซ้ายขวา เป็นชุดๆ ชุดละ 10 20 หรือ 30 เมื่อเริ่มมีทักษะแล้วให้เปลี่ยนเป็นเปิดจังหวะต่อเนื่องกันไปเป็นชุดๆ เช่นกันจนเกิดความชำนาญ  

แบบฝึกหัด 1

o   ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด สลับมือ ปิดจังหวะ

o   ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด สลับมือ เปิดจังหวะ

ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด ไขว้มือ

หลังจากที่เราฝึกรวมท่าควงแบบ ตามเกล็ด และย้อนเกล็ดสลับมือจนคล่องดีแล้ว จากเดิมที่เราแค่ควงสลับมือ เราจะเพิ่มทักษะการไขว้มือเข้าไป โดยข้างหนึ่งควงแบบตามเกล็ด ในขณะที่อีกข้างควงแบบย้อนเกล็ดไปพร้อมๆ กัน ทั้งนื้เพื่อฝึกแยกประสาทการทำงานของมือซ้ายและขวาให้แยกจากกันนั่นเอง  

แบบฝึกหัด 1

o   ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด ไขว้มือ ปิดจังหวะ

o   ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด ไขว้มือ เปิดจังหวะ

§  ตะวันฉาย

เมื่อสามารถควงท่า เบิกฟ้า ตามแบบฝึกหัดทั้งหมดได้จนคล่องดีแล้ว ทักษะลำดับต่อไปเราจะฝึกคือ การเคลื่อนดาบไปพร้อมกับการควง เพราะในการรำหรือการต่อสู้ เราต้องเคลื่อนดาบไปในที่ต่างๆ ตลอดเวลา โดยเริ่มจากการเคลื่อนดาบขึ้นมาตั้งฉากกับลำตัวในระดับไหล่ก่อนเป็นที่แรก

แต่หากผู้ฝึกทักษะในการควงพลองยังไม่ชำนาญ ก็ยังสามารถฝึกท่านี้ไปพร้อมๆ กับลูกไม้เบิกฟ้าเลยก็ได้ด้วยการเคลื่อนแต่ดาบไปยังตำแหน่งที่ต้องการโดยไม่ต้องควงก็ได้ แล้วเริ่มฝึกตามแบบฝึกหัดเมื่อมีทักษะการควงคล่องดีแล้ว

ซึ่งในลูกไม้ตะวันฉายนี้จะสามารถแตกลูกไม้สำหรับฝึกออกเป็นลูกไม้ต่างๆได้เช่นเดียวกับท่า เบิกฟ้า เช่นกัน

แบบฝึกหัด 1

o   ตะวันฉาย ตามเกล็ด สลับมือ

o   ตะวันฉาย ย้อนเกล็ด สลับมือ

แบบฝึกหัด 2

o   ตะวันฉาย ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด สลับมือ

แบบฝึกหัด 3

o   ตะวันฉาย ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด ไขว้มือ

§  ตะวันส่อง

ลูกไม้ท่านี้จะต่อยอดจาก ตะวันฉาย โดยคราวนี้เราจะเคลื่อนดาบขึ้นค่อมไหล่ไปแตะที่หลัง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อหลังและหัวไหล่ ให้มีกำลังในการเหวี่ยงและควงดาบ และเป็นการยืดกล้ามเนื้อเตรียมสำหรับท่าในลำดับต่อไป ซึ่งในท่านี้เป็นแม่ไม้ แข่งแสงสูรย์ แบบดั่งเดิมที่มีมาแต่โบราณ

ซึ่งจะสามารถแตกลูกไม้สำหรับฝึกออกเป็นลูกไม้ต่างๆ เช่นเดียวกับ ตะวันฉาย  

แบบฝึกหัด 1

o   ตะวันส่อง ตามเกล็ด สลับมือ

o   ตะวันส่อง ย้อนเกล็ด สลับมือ

แบบฝึกหัด 2

o   ตะวันส่อง ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด สลับมือ

แบบฝึกหัด 3

o   ตะวันส่อง ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด ไขว้มือ

§  ตะวันคู่

เมื่อสามารถควงเดินหน้าถอยหลังสลับมือ และไขว้มือจนเกิดความชำนาญแล้ว เราก็จะฝึกการควงพร้อมกันสองมือ ในท่าลูกไม้ต่างๆ ที่เราฝึกสลับมือมาแล้ว ทั้ง เบิกฟ้า ตะวันฉาย ตะวันส่อง  

ซึ่งจะสามารถแตกลูกไม้สำหรับฝึกออกเป็นลูกไม้ต่างๆ ได้ดังนี้  

แบบฝึกหัด 1

o   ตะวันคู่ ตามเกล็ด 

o   ตะวันคู่ ย้อนเกล็ด

แบบฝึกหัด 2

o   ตะวันคู่ ตามเกล็ด ย้อนเกล็ด 

§  พิรุณร้องไห้

คือ การควงพลองย้อนเกล็ดไปด้านหน้า หรือด้านข้างลำตัว ในลักษณะตวัดขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งใน ลูกไม้ของท่ากัน ที่สำหรับใช้ป้องกันอาวุธที่จะเข้ามาทำร้ายในทิศทางต่างๆ ซึ่งสามารถพลิกใช้ได้ทั้งในลักษณะของการ ป้อง ปัด ปิด เปิด ได้ทั้ง สามภพ เมื่อเกิดความชำนาญ

ซึ่งคำว่า สามภพ ในภาษาดาบหมายถึง

o   ส่วนบน คือตั้งแต่คอขึ้นไป, The Top, from the neck up.

o   ส่วนกลาง คือตั้งแต่คอมาถึงเอว The Middle, from the waist to the neck.

o   และส่วนล่าง คือตั้งแต่เอวลงมา The Bottom, from the waist down.

ซึ่งเปรียบทั้งสามส่วนได้กับ สวรรค์ โลก และบาดาล ตามลำดับ เราจึงสามารถแบ่งออกเป็นลูกไม้ได้ดังนี้

o   ป้องสวรรค์ คือการควงขึ้นมาอยู่ป้องอยู่ที่ระดับหัว Heaven

o   ป้องโลก คือการควงขึ้นมาอยู่ในระดับเอว Earth

o   ป้องบาดาล คือการควงอยู่ในระดับขา Underground

ซึ่งจะสามารถแบ่งลูกไม้สำหรับฝึกออกเป็นลูกไม้ต่างๆได้ดังนี้

ป้องหน้า

ในลูกไม้นี้ เราจะควงดาบย้อนเกล็ดตรงหน้าตัวทั้งสามภพ โดยแบ่งออกเป็นชุดๆ ชุดละ 10 หรือ 20 ทั้ง สวรรค์ โลก และบาดาล

แบบฝึกหัด 1

o   ป้องสวรรค์ หน้าตัว สลับมือ

o   ป้องโลก หน้าตัว สลับมือ

o   ป้องบาดาล หน้าตัว สลับมือ

แบบฝึกหัด 2

o   ป้องสวรรค์ หน้าตัว ไขว้มือ

o   ป้องโลก หน้าตัว ไขว้มือ

o   ป้องบาดาล หน้าตัว ไขว้มือ

ป้องข้าง

ในลูกไม้นี้ เราจะควงดาบย้อนเกล็ดข้างลำตัวทั้งสามภพ โดยแบ่งออกเป็นชุดๆ ชุดละ 10 หรือ 20 ทั้ง สวรรค์ กลาง และโลก

แบบฝึกหัด 1

o   ป้องสวรรค์ ข้างตัว สลับมือ

o   ป้องโลก ข้างตัว สลับมือ

o   ป้องบาดาล ข้างตัว สลับมือ

แบบฝึกหัด 2

o   ป้องสวรรค์ ข้างตัว ไขว้มือ

o   ป้องโลก ข้างตัว ไขว้มือ

o   ป้องบาดาล ข้างตัว ไขว้มือ

ป้องผสม

เราจะควงดาบย้อนเกล็ดทั้งตรงหน้าตัว และข้างตัวสลับกันทั้งสามภพ โดยแบ่งออกเป็นชุดๆ ชุดละ 10 หรือ 20 ทั้ง สวรรค์ โลก และบาดาล

แบบฝึกหัด 1

o   ป้องสวรรค์ ผสม สลับมือ

o   ป้องโลก ผสม สลับมือ

o   ป้องบาดาล ผสม สลับมือ

แบบฝึกหัด 2

o   ป้องสวรรค์ ผสม ไขว้มือ

o   ป้องโลก ผสม ไขว้มือ

o   ป้องบาดาล ผสม ไขว้มือ

ป้องสามภพ

คือการควงผสมกันตั้งสามโลก หรือที่ในภาษาดาบเรียกว่า พันรำ เพื่อฝึกความคล่องตัวในการเคลื่อนดาบสำหรับการกันดาบในวิถีต่างๆ ที่ฟันมา

แบบฝึกหัด 1

o   ป้องสามภพ สลับมือ

o   ป้องสามภพ ไขว้มือ

§  นารายณ์ขว้างจักร

แม่ไม้ท่านี้จะต่อเนื่องจากท่า แข่งแสงสูรย์ อีกทอดหนึ่ง คือเมื่อเราควงขึ้นไหล่ได้แล้วเราจะสะบัดแขนควงดาบออกไปด้านข้างลำตัวต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายการขว้างจักร เราจึงเรียกท่าควงพลองนี้ว่า นารายณ์ขว้างจักร

โดยเราจะแบ่งการฝึกแม่ไม้ออกเป็นลูกไม้สองท่าหลัก คือ

o   ขว้างสลับมือ คือ การขว้างทีละมือสลับซ้ายขวากันไปมา Single Hand

o   ขว้างสองมือ คือ การขว้างสองมือพร้อมๆกัน Double Hand

แบบฝึกหัด 1

o   ขว้างมือเดียว

o   ขว้างสองมือ

§  ไอยราฟาดงวง / The elephant strike back

นับเป็นท่าพื้นฐานท่าแรกของ ไม้ตี ก็ว่าได้ จุดประสงค์ของท่านี้ก็เพื่อให้เกิดกำลังแขน และทักษะการฟัน หรือที่เรียกในภาษาดาบว่าไม้ตี ซึ่งจากเดิมที่ฝึกด้วยการตีเป้าซึ่งในสมัยใหม่นิยมใช้ยางรถยนต์มามัดกับเสา เราจะใช้การรำเข้ามาแทน โดยเริ่มต้นด้วยการตีดาบออกจากหัวไหล่ไปข้างหน้าให้สุดแขนในแนวตั้งฉากกับพื้น แล้วยั้งดาบไว้ที่ระดับไหล่ แทนการกระทบกับยาง เราจะตีแบบนี้สลับซ้ายขวาไปจนครบจำนวนครั้งที่กำหนด

ซึ่งในแม้ไม้ท่านี้จะมีวงตีสองลักษณะคือ

o   ฟาดลง

o   ฟาดขื้น ซึ่งเราสามารถเรียกได้อีกอย่างว่า ย้อนพิรุณ (ตีย้อนทางฝนตก)   

โดยเราจะแบ่งทักษะท่าทางการฝึกออกเป็นลำดับขั้นได้ดังนี้

o   ปิดจังหวะ

o   เปิดจังหวะ

o   เปิดส้น

o   บิดตัว

การฝึกแบบนี้นับเป็นพื้นฐานในการฝึกของทุกรูปแบบของไม้ตีและไม้กัน โดยเริ่มต้นด้วยการยืนเท้าชิด แล้วตีพลองตามท่าร่าง วงฟาดลง ในลักษณะปิดจังวะ สลับซ้ายขวาไปเช่นนี้เป็นชุดๆ 10 หรือ 20

จากนั้นเปลี่ยนมาเป็น วงฟาดขึ้น หรือย้อนพิรุณ สลับกันแบบนี้ไปจนครบทั้ง 4 ลำดับขึ้นการฝึกคือ ปิดจังหวะ เปิดจังหวะ เปิดส้น และบิดตัว

แบบฝึกหัด 1

o   ฟาดงวง ปิดจังหวะ

o   ฟาดงวง เปิดจังหวะ

o   ฟาดงวง เปิดส้น

o   ฟาดงวง เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 2

o   ย้อนพิรุณ ปิดจังหวะ

o   ย้อนพิรุณ เปิดจังหวะ

o   ย้อนพิรุณ เปิดส้น

o   ย้อนพิรุณ เปิดส้น บิดตัว

แบบฝึกหัด 3

o   ฟาดงวง ย้อนพิรุณ ไขว้มือ


ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
น่าจะมีคลิปประกอบด้วย
Qung
Qung 24 มี.ค. 56 / 15:02
ขอบคุณมากค่ะ พอดีกำลังหาข้อมูลอยู่ ในแต่ละขั้นตอนถ้ามีรูปประกอบด้วยจะดีมาก :) ขอบคุณค่ะ