...
ภาพที่ 1: ถ้าภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3 เมตร (อีกหลายสิบปีเป็นอย่างเร็ว) พื้นที่เสี่ยงในภาพคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งรวมเรียกว่า "พื้นที่ ก ไก่" > Thank [ EEPSEA ]
เวียดนามเองเสี่ยงตรงพื้นที่ใต้สุด ซึ่งเป็น 3 เหลี่ยมปากแม่น้ำโขง หรืออู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนาม, พื้นที่รอบๆ เมืองหลวงทางเหนือ
...
ส่วนอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรหนาแน่นและลูกดกมากอาจเกิดน้ำท่วมบริเวณเมืองจาร์กาต้า(เมืองหลวง) และพื้นที่รอบๆ
...
ภาพที่ 2: ภาพแสดงพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในเอเชีย (แถบสีด้านล่างแสดงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นเมตร) จากบนลงล่างจะพบว่า เมืองท่าตะวันออกของจีน, รอบๆ เมืองหลวงของเวียดนาม เวียดนามใต้สุด, กรุงเทพฯ และปริมณฑล, จาร์กาต้าของอินโดนีเซียและรอบๆ เสี่ยงไปทั่วหน้า > Thank [ globalwarmingart ]
มองไปทางตะวันตกของไทย... เขตอิระวดีซึ่งเป็นเมืองปลูกข้าวที่เพิ่งโดนพายุนาร์กิสเสี่ยงมาก รองลงไปเป็นย่างกุ้งของพม่า และประเทศที่หนักที่สุด คือ บังคลาเทศ
...
ถ้าบังคลาเทศซึ่งมีประชากรหนาแน่น ลูกดกมาก และพื้นที่ต่ำมากถูกน้ำท่วม และพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม + น้ำทะเลหนุนเข้าแม่น้ำจนไม่เหมาะกับการเกษตรแล้ว... คนบังคลาเทศจะอพยพไปไหน
ไปเป็นโรฮิงยาในพม่า หรือจะลอยเรือมาไทย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งการ "แบกรับภาระผู้ลี้ภัย" ดี... คำตอบคงจะมีอยู่ในสายลม
ภาพที่ 3: ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 10 เมตร... จะพบพื้นที่น้ำท่วมแต้มไว้ด้วยแถบสีแดง > Thank [ EEPSEA ]
พื้นที่เสี่ยงมากๆ คือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ชายทะเล... จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่ค่อนข้างต่ำได้แก่ พัทลุง และนครศรีธรรมราช
......................................................................................
คณะผู้เชี่ยวชาญตีพิมพ์ข้อคิดเห็น (commentary = คอมเมนต์) ในวารสารการแพทย์ 'Lancet' (16 พฤษภาคม 2552)ว่า "ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (เช่น ภาวะโลกร้อน ฯลฯ) เป็นภัยพิบัติที่น่ากลัวที่สุดในศตวรรษนี้ (21st century = ศตวรรษที่ 21)
รายงานการศึกษานานนับปีที่ทำโดยมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอนกล่าวว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน (heat wave) หรือกลุ่มอาการร้อนที่ปกคลุมพื้นที่กว้างขวางรุนแรงขึ้น บ่อยขึ้น
...
ผู้เชี่ยวชาญองค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการณ์ว่า ตัวอย่างเช่น ในปี 2100 หรือ พ.ศ. 2643 คลื่นความร้อนในชิคาโก (ตอนเหนือของสหรัฐฯ) จะเพิ่มขึ้น 25% เมืองลอส แอนเจลิส (ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ) จะมีวันที่มีคลื่นความร้อนปกคลุมเพิ่มขึ้น 4-8 เท่า
คนที่เสี่ยงอันตรายมากเป็นพิเศษคือ คนไข้โรคหัวใจ หอบหืด คนสูงอายุ เด็กเล็ก และคนจรจัด (ถ้าไม่บ้านจะโดดฝน ลม แดด และอากาศร้อนๆ หนาวๆ มากขึ้น)
...
ปรากฏการณ์ที่ชัดเจนคือ 'Rising seas, Sultry air' = "ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อากาศร้อนชื้นมากขึ้น"
คนที่อยู่ในระยะ 60 ไมล์ = 96 กิโลเมตรจากชายฝั่ง หรือประมาณ 1/3 ของประชากรโลก จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า
...
ปี 2100 หรือ พ.ศ. 2643 ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เมตร (กรุงเทพฯ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 0.5 เมตร)
ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะทำให้คนต้องหนีน้ำทะเล นอกจากนั้นราคาข้าวปลาอาหารจะแพงขึ้น เนื่องจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำถูกน้ำท่วม น้ำทะเลรุกเข้าแม่น้ำ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดลง
...
แถมภาวะโลกร้อนยังทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำไปทั่ว ที่เห็นชัดมากๆ ตอนนี้คือ ออสเตรเลียกับแคลิฟอร์เนียกลายเป็น "บัวแล้งน้ำ" ติดต่อกันมาหลายปีแล้ว
เรื่องนี้ประเทศที่เตรียมตัวดีคือ ซาอุดีอาระเบียได้เช่าพื้นที่ปลูกพืชในหลายๆ ประเทศ เช่น พม่า กัมพูชา ฯลฯ ไว้แล้ว [ข่าว Al Jazeera ]
...
โลกที่ร้อนชื้นขึ้นทำให้อาคารบ้านเรือนเป็นดุจสรวงสรรค์ของสัตว์กินเลือด (ticks) เช่น หมัด ไร เห็บ ฯลฯ ซึ่งอาจนำโรค เช่น โรคลายม์ (Lyme - โรคติดจากแมลงหรือแมง ทำให้เป็นไข้ เข่าหรือข้อบวม ปวดเมื่อย คอแข็ง) ฯลฯ [ nih ]
ยุงจะมีพื้นที่น้ำท่วมขังมากขึ้น ฟักตัวออกจากไข่ได้เร็วขึ้น กัดได้นานขึ้น ทำให้โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบ (ติดทางยุงได้ พบมากในทางเหนือ-อีสาน และพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหมูของไทย)
...
โอกาสเกิดสาหร่ายโตเร็ว (algae blooms) เพิ่มขึ้นจะทำให้น้ำขัง หรือเน่าเสียได้ง่ายขึ้น โอกาสเกิดโรคระบาดจากการขาดน้ำสะอาด เช่น อหิวาฯ ฯลฯ มากขึ้น
โรคทางเดินหายใจอาจกำเริบจากการเกิดหมอกควัน (smog) จากไฟไหม้ป่า การเผาป่า-เผาขยะ (พบมากทางภาคเหนือ และมีส่วนทำให้สถิติมะเร็งปอดสูงสุดที่เชียงใหม่-ลำปาง)
...
อากาศที่ร้อนขึ้นทางตะวันตกค่อนไปทางเหนือของสหรัฐฯ ส่งผลให้แมลงปีกแข็ง (Pine bark beetles) เช่น ตัวด้วงสน ฯลฯ โตและแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นทุกปี
เดิมอากาศหนาว... ช่วงที่หนาวจัดหรือมีหิมะตก แมลงพวกนี้จะตาย หรือหยุดโตไปบางส่วน พอหน้าหนาวลดลง จะแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น ทำให้ต้นสนยืนตาย (standing dead timber) มากขึ้น
...
ต้นไม้ที่ยืนตายจะมีความชื้นต่ำ ทำให้ติดไฟได้ง่ายขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่อาริโซนาจนถึงอลาสกา
ภาวะอากาศร้อนชื้นทำให้ราเพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้คนไข้โรคหอบหืด ภูมิแพ้มีอาการแย่ลง และแน่นอนว่า โอกาสเกิดพายุต่างก็มากขึ้นตามไปด้วย
...
วิธีดูแลสุขภาพที่สำคัญในภาวะโลกร้อนได้แก่
...
(1). ดื่มน้ำให้มากพอ
- วิธีง่ายๆ ในการสังเกตว่า ดื่มน้ำพอหรือไม่ คือ ถ้าปัสสาวะถี่เกินชั่วโมงละ 1 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผลจากการดื่มน้ำมากเกินไป ถ้าปัสสาวะห่างเกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง ส่วนใหญ่เป็นผลจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป
- การดื่มน้ำให้มากพอช่วยป้องกันคลื่นความร้อนได้
(2). กางมุ้ง
- สมัยนี้มีโรคจากยุงมากมาย เช่น ไข้เลือดออก ไข้จับสั่น(มาลาเรีย) ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นบี(มีวัคซีนป้องกัน) ฯลฯ
- เดิมพวกยุงหากินเป็นเวลา แบ่งโควต้ากัน คือ ยุงลายนำไข้เลือดออกชอบกัดกลางวัน ยุงที่เหลือกัดกลางคืน ฯลฯ ตอนนี้มันก่อการร้ายทั้งกลางวันกลางคืนแล้ว ทางที่ดีคือ ติดมุ้งลวด อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวดเป็นประจำ
- ถ้าจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน... ควรพิจารณาทายากันยุง และไม่เข้าไปในเขตระบาดมาลาเรีย โดยเฉพาะชายแดนเขมรตอนนี้มีเชื้อดื้อยาระบาด
(3). ถ้าเลือกที่อยู่ได้... ควรเลือก
- อาจารย์ท่านแนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อที่ดินใกล้ทะเลในระยะ 96 กิโลเมตร ซึ่งพูดง่าย-ทำยาก
- ทางที่ดีคือ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อที่ดินหรือบ้านที่สูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 1 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่จะ
(4). หัดปลูกพืชผักสวนครัว
- ต่อไปอาหารและน้ำมันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ (ยกเว้นมีการพัฒนาพลังงานทางเลือกสำเร็จ หรือค้นพบน้ำมันแหล่งใหม่ ซึ่งอาจเป็นบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ น้ำมันจึงจะถูกลง)
- ทางที่ดีคือ หัดปลูกพืชผักสวนครัวไว้... ใครมีไอเดียปลูกผักผลไม้ลงกระถางได้ ควรรีบวิจัยและพัฒนา เพราะอาจทำรายได้งาม
(5). ไม่สูบบุหรี่
- การสูบบุหรี่เพิ่มเสี่ยงถุงลมโป่งพอง และทำให้ลูกหลานหรือคนในบ้านเสี่ยงโรคภูมิแพ้
- ทางที่ดีคือ ไม่สูบบุหรี่ และไม่เข้าไปในห้องแอร์ที่คนอื่นสูบบุหรี่โดยไม่จำเป็น
(6). ออกกำลัง
- คนที่ออกกำลังจนเหงื่อซึมเป็นประจำจะทนต่อความร้อนได้ดีขึ้น กลไกที่เป็นไปได้คือ ต่อมเหงื่อจะทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ระบายความร้อนได้ดีกว่าคนทั่วไป
(7). ทำใจ
- ทำส่วนของเราให้ดีที่สุด และไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องที่เหลือ... อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด (ถ้าเราทำส่วนของเราดีทีสุดแล้ว) เพราะโลกไม่ใช่ของเราคนเดียว
- โลกนี้เป็นที่ที่คนเรามาอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น... ถ้ามหาอำนาจที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกจะถล่มโลกด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (จากโรงงาน รถ โรงไฟฟ้า ฯลฯ) หรือมีเธน เช่น จากการเลี้ยงวัว (วัวกินหญ้า ผลจาการย่อยเกิดมีเธน แล้วผายลมออกมา) ฯลฯ เราจะทำอะไรได้นอกจาก "ทำใจ" เข้าไว้ ก็เท่านั้นเอง
...
ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
...
> Thank Reuters; [ EEPSEA ]; [ globalwarmingart ]
ที่มา
- Thank Reuters > Alan Elsner ed. Deborah Zarabenko. Climate health costs: bug-borne ills, killer heat. March 28, 2009. > [ Click ] / Source > Lancet. May 16, 2009.
- นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > > 29 พฤษภาคม 2552.
- ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
ความคิดเห็น